ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ช่วยเหลือกรณีสันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ที่ส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่งชุดประเมินสถานการณ์ ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วควบคุมโรค และทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ เข้าไปยังจุดเกิดเหตุ พร้อมเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามการร้องขอจาก สปป.ลาว

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) เพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ที่เมืองสนามไซ แขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยมอบหมายให้ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพ ที่ 10 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

โดยเช้าวันนี้ (26 กรกฎาคม 2561) ศูนย์ EOC ได้ส่งทีมประเมินสถานการณ์ ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ (MCATT) เข้าไปยังจุดเกิดเหตุ พร้อมเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาชุดน้ำท่วม 5,000 ชุด ตามการประสานงานจากหัวหน้าแผนกสาธารณสุขแขวงจำปาสัก เพื่อช่วยสนับสนุนเติมเต็มในการช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ ในการดำเนินการช่วยเหลือครั้งนี้ เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ ลุ่มน้ำโขง ของจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงจำปาสัก ที่มีความร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์อำนวยการตอบโต้ภัยพิบัติระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้การบัญชาการเหตุการณ์ โดยกลไกการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางสอดคล้องกับการดำเนินงานของส่วนกลางและระดับประเทศ

ด้าน นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพ ที่ 10 ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานสนับสนุนได้เตรียมไว้มีดังนี้

1.จัดตั้งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (Medical Emergency Response Team : MERT) จำนวน 3 ทีม ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน ช่าง และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวม 32 คน เข้าปฏิบัติการในจุดอพยพ เมืองสนามไซ 1 ทีม และเมืองปากซอง 2 ทีม

2.จัดตั้งทีมปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทีม MCATT SRRT และทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม

3.เตรียมเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานพาหนะ เดินทางเข้าพื้นที่

4.จัดตั้งชุดคัดกรอง และจุดประสานงานไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อคัดกรองผู้ป่วยและประสานความช่วยเหลือ โดยให้โรงพยาบาลสิรินธร เป็นเจ้าภาพหลักในการปฏิบัติการ

5.การลงทะเบียนจัดเตรียมทีมแพทย์จากภายนอกจังหวัดอุบลราชธานี และโรงพยาบาลเอกชน หรือสังกัดอื่นๆ เพื่อบูรณาการการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัดส่วนหน้า