ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไต เผย 6 งานวิจัยช่วยคนไทยลดกินเค็ม เกลือ และโซเดียม หลังพบสตรีทฟู๊ดโซเดียมสูงปรี๊ด แนะทำอาหารกินเอง ยัน ลดเค็มน้ำปลาร้า 50% อร่อยเหมือนเดิม พร้อมเปิดตัวหนังสั้นฆาตกรรมบนมื้ออาหาร : มื้อพิ(ษ)เศษ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสมาคมโรคไต จัดงานแถลงข่าว ความสำเร็จเครือข่ายลดบริโภคเค็ม 2561 โดยมี นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และ รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เข้าร่วม พร้อมภาพยนตร์สั้นรณรงค์ลดการบริโภคเค็ม เรื่อง “ The Ingredients : มื้อพิ(ษ)เศษ” นำแสดงโดยสินจัย เปล่งพานิช ความยาว 8 นาที เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในสังคมได้ตระหนักถึงการบริโภคเค็ม

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศรณรงค์ลดบริโภคเค็มหรือลดโซเดียม ให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงอันตราย ขณะนี้คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลก(5 กรัมหรือ 1 ช้อนชาต่อวัน) ถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้การบริโภคอาหารโซเดียมสูงยังเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดความเคยชินต่อรสเค็ม หรือพฤติกรรมติดเค็ม ทำให้บริโภคอาหารโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การติดรสชาติเค็มเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปรับลดปริมาณโซเดียม สสส. ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางการปรับลดปริมาณปริมาณโซเดียมในอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ การใช้สารทดแทนเกลือ เช่น เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งยังมีข้อจำกัดบางประการ คือ ทำให้เกิดรสเฝื่อนในอาหาร หรือการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม เช่น ปลาร้า สามารถลดปริมาณโซเดียมลงได้ร้อยละ 50 ดังนั้นการหาแนวทางปรับลดโซเดียมในอาหารโดยไม่ส่งผลกระทบต่อรสชาติและการยอมรับผู้บริโภคจึงถือเป็นเป้าหมายสำคัญอีกทางหนึ่ง

“ผลการวิจัยปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารสตรีทฟู๊ด ของ ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักวิจัยเชี่ยวชาญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า กับข้าวและอาหารจานเดียวส่วนใหญ่มีโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อถุงหรือกล่องที่จำหน่าย ซึ่งอยู่ในระดับความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ ประชาชนควรเตรียมอาหารด้วยตนเองในบางมื้อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมมากเกินไป ทั้งนี้จากการทดลองเตรียมน้ำซุปใสที่เติมน้ำปลาที่ให้รสชาติกลมกล่มเค็มพอดีนั้นจะใช้น้ำปลา 6 กรัมต่อน้ำซุป 200 ซีซี จะมีปริมาณโซเดียมเพียง 600 มิลลิกรัม จึงมีความเป็นไปได้ที่ร้านค้าจะมีการใช้ ผงชูรส ผงปรุงแต่งรสชนิดก้อน/ผง ในปริมาณสูงเกินความจำเป็น รวมทั้งการใช้ส่วนผสม เช่น ไตปลา ปลาร้า พริกแกง และกะปิ ที่มีโซดียมสูง จึงเป็นผลให้อาหารสตรีทฟู๊ด ที่สำรวจในการศึกษานี้ส่วนใหญ่มีโซเดียมในระดับความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ”

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สร้างสรรค์ทั้งงานประชาสัมพันธ์ งานวิจัย เพื่อปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้หันมาใส่ใจ ลด ละ เลิกการบริโภคเค็ม รวมถึงการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนให้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อลดเค็มให้แก่ผู้บริโภค โดยให้ผู้ประกอบการอาหารติดฉลาก “ทางเลือกสุขภาพ” โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 633 ผลิตภัณฑ์แบ่งเป็นกลุ่มอาหารมื้อหลัก 10 ผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรส 12 ผลิตภัณฑ์ อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่และโจ๊ก) 22 ผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว 30 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องดื่ม 458 ผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์นม 81 ผลิตภัณฑ์และไอศกรีม 20 ผลิตภัณฑ์

“สำหรับงานวิจัยของเครือข่ายลดบริโภคเค็มในปี 2561 นี้ ประกอบด้วย 6 โครงการเด่น ได้แก่ 1. โครงการวิจัยการผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนทั่วไป 2.โครงการวิจัย Food safety Forum: ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป 3.โครงการวิจัยต้นแบบผลิตภัณฑ์เกลือลดโซเดียม: การใช้ประโยชน์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ 4.โครงการวิจัยการศึกษาปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารบาทวิถี (Street Foods) 5.โครงการวิจัยการพัฒนาคุณภาพปลาร้าและผลิตภัณฑ์ปลาร้าทางเลือกตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และ 6. โครงการวิจัยการทดสอบความแม่นยำของเครื่องตรวจปริมาณเกลือในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อประเมินการบริโภคเกลือในคนและการประยุกต์ใช้เพื่อช่วยลดการบริโภคเกลือในประชากร” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว