ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รับได้ในหลักการสำนักงานประกันสังคมปรับเพดานค่าสมทบจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาท ชี้สวัสดิการทางสังคมเพิ่มขึ้นตามเงินที่จ่ายเพิ่ม ระบุ โจทย์คือการบริหารกองทุน เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพมากที่สุด เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินเป็นค่าสมทบรายเดือนเพื่อรักษาพยาบาลตัวเอง ในขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และสวัสดิการข้าราชการ ใช้ภาษีในการดูแลทั้ง 100%

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบรายเดือนจำนวน 5% ของเงินเดือน โดยเงินนี้จะถูกแบ่งไปยังกองทุนสวัสดิการสังคมด้านต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือกองทุนรักษาพยาบาล ซึ่งแบ่งเงินออกไปประมาณ 0.88%

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนก็เริ่มมีข้อเสนอแล้วว่าในส่วนของค่ารักษาพยาบาลนั้น รัฐควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ คือช่วยอุดหนุนงบประมาณเป็นรายหัวเช่นเดียวกับบัตรทอง ส่วนเงินจำนวน 0.88% ก็ให้นำไปสะสมเพิ่มเติมในกองทุนบำนาญชราภาพ นั่นหมายความว่าผู้ประกันตนก็ยังจ่ายสมทบ 5% ของเงินเดือนเท่าเดิม แต่รัฐเข้ามาดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล ฉะนั้นเงินในส่วนค่ารักษาพยาบาลก็จะถูกไปเพิ่มในบำนาญชราภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น

น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หากเกษียณอายุที่อายุ 55 ปี จะมีเงินบำนาญเพียงแค่เดือนละ 3,000 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทั้งๆ ที่เขาเก็บสะสมมาตลอดชีวิต ดังนั้นหากมีการเพิ่มเงินออมชราภาพ 0.88% จะทำให้เขาได้รับเงินมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดคือการปฏิรูปที่อยากให้เกิดขึ้นจริ

ประเทศไทยมีหลักการที่เรียกว่า SAFE (Sustainability, Adequacy, Fairness และ Efficiency) ซึ่งพูดถึงการจัดบริการที่จำเป็นให้แก่ประชาชนโดยรัฐ ซึ่งในกรณีคือจัดให้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น อะไรที่เกินความจำเป็น หรือมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นก็อาจจะเรียกเก็บเงินได้” น.ส.สุภัทรา กล่าว

สำหรับแนวคิดของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่จะปรับเพดานอัตราการเก็บสมทบจากเดิมไม่เกิน 750 บาท เป็นไม่เกิน 1,000 บาท จากผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1.5 หมื่นบาทนั้น น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า โดยหลักการยังเป็นเรื่องที่พอรับได้ในแง่ที่ว่าคนที่จ่ายเพิ่มก็จะได้รับสวัสดิการทางสังคมหรือสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับเงินเดือนด้วย

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า พอเข้าใจได้ว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2533 และที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรับขึ้นเพดานเงินเดือน แต่ประเด็นของประกันสังคมหรือโจทย์ใหญ่คือเรื่องการบริหารจัดการกองทุน ซึ่งยังไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกับผู้ประกันตนมากเท่าไร เช่น ยังมีความเหลื่อมล้ำและยังวิ่งตามสิทธิประโยชน์บัตรทองอยู่ ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเอง

“ถ้าเราใช้หลัก SAFE มาจับ ข้อเสนอคือต้องมีชุดบริการมาตรฐานที่จำเป็นของทุกคน หรือที่เรียกกันว่าชุดสิทธิประโยชน์กลางที่ทุกกองทุนจะใช้ได้เหมือนกัน ส่วนอะไรที่พิเศษนอกเหนือจากนี้ เช่น ความสะดวกสบายอื่นๆ ก็อาจจะเก็บเพื่อท็อปอัพเป็นรายสิทธิประโยชน์ไป” น.ส.สุภัทรา กล่าว