ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เนื่องด้วยทุกวันนี้ คนไทยประมาณร้อยละ 10-15 มีปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่มาพบแพทย์ ในขณะที่ประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนหรือทางการแพทย์เรียกว่า “ไบโพลาร์” เป็นจำนวนมากนับหลายแสนคน

โดยจากรายงานล่าสุดในการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต และคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ทั้งสิ้น 32,502 คน จากผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 712,359 คน ซึ่งยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าตนป่วย หรือไม่กล้ามาพบแพทย์

จึงไม่อยากให้เกิดความชะล่าใจ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่คิดว่าเป็นอาการของโรคแปรปรวน และหากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายได้ทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง คนใกล้ชิด และสังคมรอบข้างได้ เนื่องด้วยผู้ป่วยมักใช้ความรุนแรงทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว บางครั้งก็มาจากการที่มีอารมณ์แบบสุดขั้ว บางรายมีอาการซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไข้ 1 ใน 5 สามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จ

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้ตระหนักและรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรคภัยต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง “โรคทางจิตเวช” ถือเป็นหนึ่งในกลุ่ม 7 โรค ที่แพทยสมาคมฯ ได้ดำเนินงานอยู่ภายใต้ “โครงการอุ่นใจเมื่อใกล้แพทยสมาคมฯ” สำหรับปีนี้ ไบโพลาร์หนึ่งในโรคทางจิตเวชได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกระแสในสังคมทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ จึงถือโอกาสเปิดตัว “โครงการอุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ Healthy mind, Happy life” ขึ้นเพื่อสร้างพลังในเชิงบวกให้กับกลุ่มผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย รวมถึงสะท้อนถึงมุมมองและประสบการณ์ตรงของผู้ป่วยและคนในครอบครัว ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่คนในสังคมได้รับรู้ถึงความรู้สึกและเข้าใจอาการของผู้ป่วยไบโพลาร์ รวมถึงผู้ป่วยทางจิตเวชให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้มีที่ยืนในสังคมได้อย่างเป็นธรรม

โดย “โครงการอุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ นี้ จะมุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านกิจกรรมการสัญจรให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ เพื่อให้สังคมช่วยกันสังเกตพฤติกรรมคนใกล้ชิด เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาได้และสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดโรคไบโพลาร์ ว่ามีอยู่หลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือการเลี้ยงดู โดยทางพันธุกรรมนั้นในครอบครัวที่พ่อแม่ป่วยโรคนี้ ลูกก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นไบโพลาร์มากกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นกันทุกคน รวมถึงการเลี้ยงดู หากเลี้ยงดูจนทำให้เด็กเกิดความเครียด หรือไม่สามารถปรับตัวได้ ก็เสี่ยงที่จะเกิดการกระตุ้นให้เกิดโรคได้มากขึ้น ส่วนสิ่งแวดล้อม เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมองทำให้การควบคุมอารมณ์เปลี่ยนไป

โดยผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ จะมีอารมณ์แปรปรวนที่ผิดปกติแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อารมณ์เศร้าหรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ ในช่วงระยะอารมณ์ซึมเศร้าจะมีอาการแบบนี้ติดๆ กันนานถึง 2 สัปดาห์ – 1 เดือน ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า มองตัวเองในแง่ลบ และมีความคิดฆ่าตัวตาย ส่วนในช่วงที่มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกตินานติดๆ กัน 2 สัปดาห์ - 1 เดือนเช่นกัน ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดีมากกว่าปกติ คึกคัก มีความมั่นใจมากขึ้น แต่ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดแบบมีพลังวิเศษ หรือมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่น จนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้

อดีตนักแสดง คุณหมวย- สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์ กล่าวเปิดใจในงาน “อุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ Healthy mind, Happy life” ว่า “ตอนแรกคนรอบข้างไม่เข้าใจเรา คิดว่าหมวยเป็นบ้า เป็นคนเหวี่ยงวีน ช่วงนั้นควบคุมสติไม่ได้ ปกติเราอาจจะโกรธแค่ระดับ 5 แต่ถ้าคนที่เป็นโรคนี้ โกรธได้ถึงระดับ 100 จริงๆ หมวยพยายามควบคุมอารมณ์แต่มันทำไม่ได้ เพราะโรคไบโพลาร์เกิดจากสารเคมีในสมองไม่เท่ากัน มันเป็นโรคที่เครียด ผิดหวังเรื่องที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้นกับตัว ช่วงนั้นโปแตสเซียมตกต้องถูกนำตัวส่งห้อง ICU ก่อนหน้านี้ มีอาการขึ้นๆ ลงๆ แบบสองขั้ว เวลามีความสุขก็แทบจะอยากจุดพลุ แต่ถ้ามีอะไรสะกิดปั๊บมันจะดิ่งลงมา รู้สึกว่าต้องฆ่าตัวตายเดี๋ยวนี้ จนรู้สึกว่าเริ่มรับมือไม่ไหวก็เลยไปหาหมอดีกว่า ชีวิตตอนนี้มีความสุขดีค่ะ ตอนที่หายป่วยใหม่ๆ ยังไม่มีงาน แฟนและคนรอบข้างก็ให้กำลังใจว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวอีก 2-3 เดือนจะมีงาน อดทนนะ ฝ่าฟันไปให้ได้นะ ชีวิตมันไม่ได้ต้องการอะไร แค่มีคนที่ฝ่าฟันไปด้วยกัน แฟนและคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ชีวิตหมวยดีขึ้น ดีขึ้นมากๆ เข้าใจโลกมากค่ะ”

และอีกประสบการณ์ตรงของ “ดีเจเคนโด้ - เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร" ในฐานะที่เคยป่วยเป็นไบโพลาร์ ขอแชร์เพื่อจุดประกายคนที่กำลังป่วยหรือคนที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็สามารถหายใช้ชีวิตปกติได้ครับ ช่วงที่ผมป่วยระยะ Mania มีอาการถึงขั้นคิดว่าสามารถเข้าทรงได้ คิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษต่างๆ นานา นี่มันเป็นอาการของโรคเลยคือเห็นตัวเองมีอำนาจวิเศษมันจะค่อยๆ ขยับตัวเองขึ้นไป เช่น ฉันเก่ง เก่งมาก เริ่มมีอำนาจวิเศษ บางคนถึงขั้นคิดว่าตัวเองเหาะเกินเดินอากาศได้ ขึ้นไปบนตึกแล้วกระโดดลงมาเพราะคิดว่าตัวเองบินได้ เนื่องจากสมองสั่งให้มีพฤติกรรมเช่นนั้น ส่วนด้านพฤติกรรมความก้าวร้าว ผมเคยถึงขั้นชี้หน้าว่าแขกรับเชิญและผู้ร่วมงานด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย

และเมื่อเข้าสู่ระยะ Depressed จะเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากจะทำอะไร นอนไม่หลับ อยากจะอยู่แต่บนเตียง ไม่อยากทำงาน ร้องไห้ ขับรถมาทำงานก็ร้องได้ ถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ทั้งหมดทั้งมวลแล้วเป็นตัวเราที่ถูกครอบด้วยโรค เมื่อเรารู้ไม่ทันมัน เรารักษาไม่ทันมันก็จะเกิดความเสียหายทางร่างกายและจิตใจของทั้งตัวเองและครอบครัว จึงอยากเป็นกระบอกเสียงให้คนเข้าใจว่าผู้ป่วยไบโพลาร์ "ไม่ใช่คนบ้า ไม่ใช่คนโรคจิต" แต่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางอารมณ์ที่จะสามารถรักษาหายได้ด้วยยาและจิตบำบัด ผมจะบอกเสมอการไปหาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไรเลย การไปหาจิตแพทย์มันเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เมื่อเราได้ปรึกษาเราจะได้ตัดเรื่องอารมณ์ความคิดอะไรออกไป เราจะมีสติมากขึ้น”

ศ.นพ.รณชัย กล่าวปิดท้ายว่า “การสร้างความเข้าใจกับสังคมในเรื่องของจิตเวชเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกัน เพราะโรคนี้สามารถรักษาได้หากได้รับการติดตามและดูแลอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 80-90 โดยมีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น เช่น เหตุการณ์ที่สะเทือนใจ เหตุการณ์พลิกผันในชีวิตซึ่งไม่เคยคาดคิดมาก่อน ภาวะความเครียดรุมเร้า ตลอดจนการใช้สารเสพติด เป็นต้น ดังนั้นการรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด ทั้งนี้ ผู้ป่วย ญาติ และสังคมจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกับโรคและการรักษา โดยผู้ป่วยเองต้องปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด ขณะที่ญาติและคนใกล้ชิดต้องดูแลให้ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ ให้กำลังใจ และมีการสื่อสารที่ดีในครอบครัว ตลอดจนสังคมก็ต้องเข้าใจ ให้โอกาส และลดอคติ มองผู้ป่วยจิตเวชและไบโพลาร์ไม่ต่างจากจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเข้าสู่กระบวนการรักษาและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนทั่วไป”

ดังนั้น เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วมีประสิทธิผล ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวควรได้รับความรู้ความเข้าใจ ทั้งเรื่องธรรมชาติของโรค ปัจจัยเสี่ยง การรักษา วิธีการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ การจัดการกับความเครียด การจัดการกับจัดการกับปัญหาในชีวิตตลอดจนส่งเสริมให้มีการสื่อสารที่มีคุณภาพในครอบครัว เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการรักษา และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้ โครงการ “อุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ Happy mind, Happy life” จะจัดโรดโชว์ใน 3 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ลำพูน อุดรธานี และสงขลา เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช และสนับสนุนกลุ่มผู้ป่วยในพื้นที่รวมทั้งเครือข่ายครอบครัวของผู้ป่วยในการจัดการกับโรคจิตเวชเพื่อความผาสุกของชีวิตและสังคม

สามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าของ โครงการ “อุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ Happy mind, Happy life” ได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ อุ่นใจเมื่อใกล้แพทยสมาคม