ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์, ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ, นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม (H. E. Mr. Staffan Herrstrom) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ (Mr. Peter Haymond) อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แถลงข่าวประกาศผลตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลครั้งที่ 27 ประจำปี 2561

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ดังนี้

Professor Brian J. Druker

1.ศาสตราจารย์นายแพทย์ไบรอัน เจ. ตรูเคอร์ (Professor Brian J. Druker) ศาสตราจารย์อายุรศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งในท์ มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ผู้มีผลงานสำคัญในการศึกษาค้นคว้า และวิจัยจนเป็นผู้นำในการพัฒนาหนึ่งในยาต้นแบบของการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า คือ อิมาทินิบ สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล

Professor Dr. Mary-Claire King

2.ศาสตราจารย์ ดร.แมรี่ แคลร์ คิง (Professor Dr. Mary-Claire King) ศาสตราจารย์เวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงมีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมปีละกว่าสองล้านคน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 200,000 คนในแต่ละปี

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ดังนี้

Professor John D. Clemens

1.ศาสตราจารย์ นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ (Professor John D. Clemens) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยโรคท้องร่วงนานาชาติ ประเทศบังคลาเทศ ศาสตราจารย์วุฒิคุณระบาดวิทยามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา

Professor Jan R. Holmgren

2.ศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน (Professor Jan R. Holmgren) ศาสตราจารย์จุลชีววิทยาการแพทย์ และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน

ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ และศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรนทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า 30 ปี ในการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน ผลงานการศึกษาตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างภูมิต้านทานป้องกันอหิวาตกโรคไปสู่การผลิตวัคซีนชนิดกินที่ได้รับการทดสอบทางคลินิก จนเป็นที่ยอมรับโดยองค์การอนามัยโลก

ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากวัคซีนชนิดฉีดเป็นการแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดกินแทนและสนับสนุนคลังวัคซีนสำหรับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปัญหา หรือมีความเสี่ยงต่อการระบาดของอหิวาตกโรค ทำให้ช่วยป้องกันโรคได้ในวงกว้าง ลดการเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคได้ในประชากรหลายล้านคนทั่วโลก

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยมอบเป็นรางวัลให้บุคคล หรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล แต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100, 000 เหรียญสหรัฐ สำหรับปี พ. ศ. 2561 นี้เป็นปีที่ 27 ของการมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มีผู้เสนอชื่อเข้ารับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จำนวน 49 รายจาก 25 ประเทศ การพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัล พิจารณากลั่นกรองโดยกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ แล้วนำเสนอให้คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 ในวันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2562 เวลา 17. 30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยในวันที่ 30 มกราคม 2562 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือน และแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย