ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันพระปกเกล้าจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ผู้สมัครกรรมการทันตแพทยสภา 11 ธ.ค.นี้ พร้อม Facebook Live เปิดให้ผู้ฟังส่งคำถามให้ผู้สมัครตอบกันสดๆ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไทยที่กำลังจะมีเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ ประจวบกับเป็นช่วงที่ทันตแพทยสภาก็กำลังจะมีการเลือกตั้งกรรมการเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสมาชิก ซึ่งการเลือกตั้งกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ 9 ครั้งนี้มีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง มีผู้สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งมากถึง 73 คน โดยมาจาก 4 ทีมจำนวน 67 ท่านและผู้สมัครอิสระ 6 ท่าน ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การเลือกตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจภายใต้หลักการประชาธิปไตย ส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมและสนใจการเลือกตั้ง ทันตแพทยสภาจึงได้ขอความกรุณาสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย จัดเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครทั้งทีมและรายบุคคลได้แถลงวิสัยทัศน์และนำเสนอนโยบายประกอบการตัดสินใจลงคะแนน

โดยเวทีดังกล่าวจะจัดขึ้น ณ หอประชุมประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า กรุงเทพฯ ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2561 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.-15.30 น. รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของทันตแพทยสภา (thaidentalcouncil) อีกด้วย จึงขอเรียนเชิญสมาชิกทุกท่านรับชมการถ่ายทอดสดครั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการทันตแพทยสภา

ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะผู้ดำเนินรายการแสดงวิสัยทัศน์และนำเสนอนโยบายการเลือกตั้งกรรมการทันตแพทยสภา กล่าวว่า การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเป็นกรรมการทันตแพทย์สภาวันที่ 11 ธ.ค. 2561 นี้มีผู้ตอบรับเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์แล้ว 3 ทีมกับผู้สมัครอิสระอีก 2 คน รวมทั้งหมด 5 คน

สำหรับรูปแบบการแสดงวิสัยทัศน์รอบแรกจะเปิดให้ผู้สมัครแต่ละคนนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายคนละ 5 นาที จากนั้นตนในฐานะผู้ดำเนินรายการจะรวบรวมคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุมและคำถามทาง Facebook Live มาใส่ไว้ในกล่อง แล้วจับฉลากเลือกมาทีละคำถาม รวมทั้งจับฉลากเลือกผู้ตอบคำถามนั้น 1 คน โดยจะเปิดให้ตอบคำถามประมาณ 10 คำถาม เท่ากับว่าผู้แสดงวิสัยทัศน์แต่ละคนจะได้ตอบคำถาม 2 ครั้ง โดยแต่ละคนจะได้คำถามไม่เหมือนกัน ไม่มีการเตรียมคำถามไว้ก่อน เป็นคำถามที่มาจากหน้างานจริงๆ และหากคำถามใดที่ผู้แสดงวิสัยทัศน์ไม่ต้องการตอบก็สามารถสละสิทธิในการตอบคำถามนั้นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้แสดงวิสัยทัศน์ยังจะมีสิทธิตอบคำถามพิเศษอีกคนละ 2 สิทธิ เช่น อาจมีคำถามอื่นที่ตนเองไม่ได้ถูกจับฉลากให้ตอบ แต่ผู้สมัครรายนั้นอยากตอบคำถามนี้ก็สามารถใช้สิทธิตอบคำถามพิเศษเพื่อแสดงความเห็นได้เช่นกัน

"ในช่วงท้ายของการแสดงวิสัยทัศน์จะเปิดให้ผู้สมัครแต่ละรายกล่าวสรุปอีก 2 นาที และเพื่อเป็นสีสันของงาน ก็จะเปิดให้ผู้ฟังโหวตด้วยว่าชอบการนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้สมัครคนใดมากที่สุดอีกด้วย" ดร.สติธร กล่าว