ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี จับมือกูเกิ้ล นำร่องใช้ AI วิเคราะห์ภาพถ่ายจอประสาทตาช่วยคัดกรองตาบอดจากเบาหวานขึ้นตาใน จ.ปทุมธานี และ เชียงใหม่ เผยความแม่นยำสูงถึง 95%

ขอบคุณภาพจาก facebook โรงพยาบาลราชวิถี

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและ Google ทำโครงการการนำร่องการใช้ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงตาบอดจากเบาหวานขึ้นตาใน จ.ปทุมธานี และ จ.เชียงใหม่ โดยจะเป็นการใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายจอประสาทตาเพื่อดูว่ามีความเสี่ยงตาบอดมาน้อยเพียงใด จำเป็นต้องส่งต่อให้จักษุแพทย์รักษาหรือไม่

นพ.ไพศาล กล่าวว่า เบาหวานขึ้นตาเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการตาบอดในประเทศไทย ในรายที่อาการรุนแรงถึงผ่าตัดไปก็ไม่สามารถกลับมามองเห็นได้ชัดอีก ดังนั้นแนวทางป้องกันคือต้องตรวจคัดกรองก่อนอาการจะถึงขั้นรุนแรงจนผ่าตัดไม่ได้ ต้องตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ขณะที่ปัจจุบันจำนวนจักษุแพทย์ในประเทศไทยมีประมาณ 1,200-1,500 คน ส่วนผู้ป่วยเบาหวานทั่วประเทศมีประมาณ 4-5 ล้านคน ดังนั้นจึงมีการเซ็ตระบบโดยมีกล้องถ่ายภาพจอประสาทตาประมาณ 700 ตัวในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อถ่ายภาพแล้วให้พยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงตาบอดหรือต้องส่งต่อให้จักษุแพทย์รักษาหรือไม่ ซึ่งความแม่นยำในการวิเคราะห์ภาพถ่ายจอประสาทตาจะอยู่ที่ประมาณ 85%

อย่างไรก็ดี ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา Google ได้พัฒนา AI เพื่อช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายจอประสาทตาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการพบว่ามีความแม่นยำในการตรวจจับเบาหวานขึ้นตาถึง 95% จึงเกิดแนวคิดว่าน่าจะลองนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย อย่างไรก็ดีเนื่องจากเป็นของใหม่และไม่รู้ว่ามีประสิทธิภาพในการจริงมากน้อยเพียงใด ในปีที่ผ่านมาจึงมีการวิจัยโดยนำตัวอย่างภาพถ่ายจอประสาทตาของผู้ป่วยในประเทศไทยประมาณ 7,000 ภาพมาให้ AI วิเคราะห์ และพบว่ามีความแม่นยำในการตรวจจับ 95% จริงตามที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

"อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษามันบอกแค่ว่าความแม่นยำของ AI ในการตรวจจับเบาหวานขึ้นตามันใช้ได้จริงกับคนไทย แต่การ Deploy ใช้ทั่วประเทศยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น โครงข่ายที่ใช้อัพโหลดภาพจะใช้โครงข่ายอะไร จะ Maintain ระบบอย่างไร เซิร์ฟเวอร์จะรับได้หรือไม่ ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องนำร่องใน 2 จังหวัดนี้ดูก่อน เพื่อศึกษาต่อไปว่าจะเจออุปสรรคอะไรอีก โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-2 ปีในการทดลองในขั้นนี้" นพ.ไพศาล กล่าว

ทั้งนี้รูปแบบการนำร่องใช้ AI จะนำมาช่วยพยาบาลในการวิเคราะห์ภาพ เช่น ในพื้นที่ที่พยาบาลไม่มั่นใจในการอ่านผลภาพถ่ายและต้องส่งภาพให้จักษุแพทย์เป็นผู้วิเคราะห์ ระบบ AI จะช่วยวิเคราะห์ภาพ ทำให้คนไข้รู้ผลได้ทันทีไม่ต้องรอผลจากจักษุแพทย์ หรือในพื้นที่ที่พยาบาลสามารถวิเคราะห์ภาพได้ ระบบ AI ก็จะช่วยยืนยันอีกชั้นว่าผลการวิเคราะห์ตรงกันหรือไม่ เป็นต้น

"AI เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งแต่ก็ต้องดูด้วยว่าจะ Deploy อย่างไรในภาพรวมของประเทศให้ได้ผลจริงๆ ดังนั้นถ้าโครงสร้างฐานไม่รองรับมันก็ไม่เวิร์ค ก็ต้องค่อยๆดูทีละเฟสๆจะดีกว่า" นพ.ไพศาล กล่าว