ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีต รมว.สธ. เชื่อ หากภาคธุรกิจยังกินรวบ ไม่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ประเทศไทยจะเกิดจลาจลในระยะเวลาอันใกล้นี้ ปลุกประชาชนจิตอาสาผนึกกำลังสร้างความยั่งยืนให้ระบบหลักประกันสุขภาพ แนะภาคสุขภาพใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 มูลนิธิมิตรภาพบำบัด (กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) จัดงาน “รำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่นโฮเทล กทม. โดยมีภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 500 ราย

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธาน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เรียนรู้จิตอาสาจากหมอสงวน” ตอนหนึ่งว่า ผู้ที่ทำงานอยู่ในชนบท ทำงานกับผู้ยากไร้ ทำงานกับผู้เจ็บป่วย เป็นกลุ่มคนที่มีจิตอาสามาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเป็นจิตที่มีความรู้สึกอยากให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น อยากให้ความสุขเกิดขึ้นกับคนที่ตัวเองทำงานด้วย และอยากให้ความทุกข์ของคนเหล่านั้นหายไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบการล้มละลายจากการรักษาพยาบาลกับประชาชนไม่ต่ำกว่าปีละ 6 หมื่นครัวเรือน พบการขายบุตรสาวเพื่อรักษาโรคร้ายแรงและมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ล้มละลายจากโรคไต ล้มละลายจากโรคมะเร็ง ซึ่งประเทศไทยก็มีความพยายามในการแก้ไขมาตั้งแต่อดีต แต่สถานการณ์ก็ยังสืบเนื่องต่อมาจนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนหรือจุดพลิกผันในปี 2543 ที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก สามารถประสานความร่วมมือกับนักการเมืองได้สำเร็จ จนกระทั่งเกิดเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2545

“หากย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2543 มาจนต้นปี 2544 คือในช่วง 3 เดือนนั้น ทุกคนได้ร่วมกันคิด ร่วมไม้ร่วมมือกันในการคิดชุดสิทธิประโยชน์ และวางระบบ จากโครงสร้างใหญ่ที่ นพ.สงวน วางเอาไว้ จนได้เป็น 16 จังหวัดนำร่องตั้งแต่ก่อนมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งทั้งหมดสะท้อนว่าทุกคนสู้จริงๆ และก็สู้กันมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า กลุ่มบุคคลที่ทำงานเหล่านี้มีจิตที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับกลุ่มนักธุรกิจที่คิดแต่มีแล้วไม่รู้จักจบ มีแล้วไม่รู้จักพอ ไม่เคยคิดถึงการแบ่งปัน ทำกำไรโดยไม่สนใจว่าผู้อื่นจะมีพื้นที่ทำมาหากินหรือไม่ คนเหล่านั้นใช้เงินของตัวเองเพื่อนักการเมือง เพื่อข้าราชการ เพื่อผู้มีอำนาจ เพียงเพื่อประโยชน์ของตัวเองต่อไป ฉะนั้นคนเหล่านี้จะวางจิตเอาไว้ในจุดที่มองแต่ว่าเงินมีเท่าไร ที่ดินเพิ่มขึ้นอีกกี่หมื่นไร่

“เราเห็นชัดเจนว่าตัวเลขของผู้มีอันจะกิน 2% ของคนกลุ่มบนที่สุดของประเทศไทยมีที่ดินเป็นแสนไร่ แค่ 2% ของคนในประเทศไทย ครอบครองทรัพย์สินทั้งหมด 96% คำถามคือแล้วเราจะอยู่กันต่อไปอย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าไม่ปล่อยให้มีการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข สักวันหนึ่งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เราจะต้องมีจลาจลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศแม้จะไม่ใช่เมืองพุทธแต่ก็ยังพบนักธุรกิจหรือมูลนิธิต่างๆ ที่มีจิตที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ แต่ในบ้านเรานั้นเห็นมีแต่มูลนิธิปอเต็กตึ๊งเท่านั้น ดังนั้นเนื่องในโอกาส 11 ปี ของ นพ.สงวน อยากจะทุกคนที่มีจิตเดียวกันที่อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์นั้น ช่วยกันคิดว่าเราจะร่วมมือกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง

“แม้ว่าทุกวันนี้เงินจะยังพอเลี้ยงระบบได้ แต่มันก็ค่อยๆ ฝืดลง คำถามคือมันมีทางหรือไม่ที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราต้องช่วยกันคิดในเรื่องนี้ ทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ตัวผมเองตลอด 10 ปีมานี้ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลย ผมออกกำลังกาย พักผ่อน กินในสิ่งที่สมควร ดังนั้นถ้าเราทำให้ทุกคนไม่เข้าโรงพยาบาลก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้คลินิกใกล้บ้านใกล้ใจได้ผลจริงหรือไม่ เพราะถ้าต้องการให้ใกล้บ้านใกล้ใจจริงๆ คนที่ทำงานจะต้องใกล้ใจกับชุมชนจริงๆ หากใกล้ชุมชนแล้วเมื่อพูดหรือแนะนำอะไรก็จะทำให้เขาเชื่อ แต่ข้อเท็จจริงคือการประสานของทีมงานสุขภาพกับชุมชนกลับแตกต่างจากในอดีตมาก ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านก็เปลี่ยนไป ชุมชนก็เปลี่ยนไปเช่นกัน