ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยสมาคมจัดทำโครงการกลุ่มผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง “IBD มีเพื่อน...Happy Life ถ้าลำไส้ไม่อักเสบเรื้อรัง” พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ www.ibdthai.com สร้างความรู้เกี่ยวกับโรคและวิธีดูแลรักษาที่ถูกต้อง เผยแนวโน้มผู้ป่วย IBD มีเพิ่มมากขึ้น เป็นแล้วไม่หาย เสี่ยงเป็นโรคอื่นๆตามมา แนะหากปวดท้องเรื้อรัง ท้องเสียบ่อย ถ่ายปนเลือด ควรรีบมารับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า แพทยสมาคม ร่วมกับชมรมแพทย์ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร จัดทำโครงการกลุ่มผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง “IBD มีเพื่อน...Happy Life ถ้าลำไส้ไม่อักเสบเรื้อรัง” โดยมีลักษณะเป็น patient support group มีกลุ่มของผู้ป่วยเป็นคนขับเคลื่อนกิจกรรมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างแพทย์ที่ปรึกษา ผู้ป่วยและญาติเพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการดูแลและรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ตั้งแต่สาเหตุของการเกิดโรค อาการของโรค กระบวนวินิจฉัยและการรักษา แนวทางดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับสภาพการดำเนินชีวิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้

นอกจากนี้ ได้จัดทำเว็บไซต์ www.ibdthai.com ให้เป็นช่องทางในการเข้าถึงและรู้จักกับโรคได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจง่ายด้วยข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยนอกจากผู้ป่วยและครอบครัวที่สามารถเข้ามาค้นหาวิธีการดูแลรักษาโรคที่ถูกต้อง รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ป่วยแล้ว ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ก็สามารถเข้ามาทำความรู้จักกับโรค และประเมินตัวเองในเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์แห่งนี้ เพื่อที่หากพบความผิดปกติจะได้รีบตรวจและรักษาความผิดปกติได้เร็วก่อนที่จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือหากเป็นแล้วก็ยังมีโอกาสจะกลับมาเป็นปกติได้มากขึ้น

รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิตย์

ด้าน รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิตย์ ประธานชมรมลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD (Inflammatory Bowel Disease) เป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายสำหรับคนไทยเนื่องจากในอดีตเป็นโรคที่มักจะเกิดเฉพาะกับคนในตะวันตกและตะวันออกกลาง แต่ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น และพบได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงสูงอายุ โดยอายุที่มักเริ่มมีอาการคือ 20-40 ปี ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้มีแนวโน้มของอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากประสบการณ์ของตน จากเดิมที่เจอผู้ป่วยปีละ 1-2 ราย แต่ปัจจุบันจะเจอผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 1-2 ราย

สำหรับอาการของโรง IBD มีอาการคล้ายคลึงกับโรคทางระบบทางเดินอาหารอื่น เช่น โรคกระเพาะ โรคริดสีดวงทวาร หรือโรคลำไส้แปรปรวน หรือ IBS (Irritable Bowel Syndrome) จึงมักทำให้ผู้ป่วยไม่เฉลียวใจว่าอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือดที่เกิดขึ้นเป็นอาการของ IBD ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ตรงกับโรค ผู้ป่วยจึงเป็นหนักขึ้นและมีอาการอักเสบเรื้อรังยิ่งขึ้น

"โรคนี้ยังไม่ทราบว่ามีสาเหตุจากอะไรและเป็นแล้วไม่หาย รักษายาก มักจะมีอาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ เสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่นตามมา เช่น ลำไส้ตีบตัน ลำไส้ทะลุ และมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งหรืออาจเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ความสำคัญของโรคนี้อาจไม่เท่ากับโรคร้ายแรงอื่นๆ แต่แนวโน้มจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตามความเจริญของสังคมที่มากขึ้น จึงได้ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่ถูกต้อง" รศ.นพ.สถาพร กล่าว

ผศ.นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล

ด้าน ผศ.นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง กล่าวว่า โรค IBD เกิดจากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานมากผิดปรกติและคิดว่าลำไส้ของตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้น คล้ายกับโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคพุ่มพวง ต่างกันที่โรคพุ่มพวงทำให้เกิดการอักเสบได้ทุกส่วนในร่างกายแต่โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจะเกิดการอักเสบที่ระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก

“หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคนี้ เช่น ปวดท้องเรื้อรัง ท้องเสียบ่อย ถ่ายปนเลือด ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด” นพ.จุลจักร กล่าว