ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.อนุมัติงบกองทุนบัตรทอง ปี 63 กว่า 1.91 แสนล้านบาท เพิ่มเม็ดเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากปี 62 กว่า 6.5 พันล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาท/ประชากร หนุนเดินหน้าสิทธิประโยชน์ปี 63 ดูแลประชาชน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุม ทั่วถึง อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (12 ก.พ.62) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติอนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่จำนวน 1.91 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1.41 แสนล้านบาท จากข้อเสนอจำนวน 1.99 แสนล้านบาท โดยเป็นเม็ดเงินที่เข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มจากปี 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท โดยงบที่ได้รับประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้

1.งบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 1.74 แสนล้านบาท ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการในส่วนเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากรและค่าบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 48.26 ล้านคน คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาทต่อประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็นจำนวน 173 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ์

2.งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,596 ล้านบาท

3.งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,405 ล้านบาท

4.งบบริการบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรคเรื้อรัง จำนวน 1,037 ล้านบาท

5.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490 ล้านบาท

6.งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชน จำนวน 1,025 ล้านบาท

7.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 268 ล้านบาท

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2563 นี้ โดยเฉพาะในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวจะนำมาสู่การพัฒนาระบบ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีสิทธิประโยชน์ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาผู้ป่วยนอก การรักษาผู้ป่วยใน ซึ่งในปีนี้ได้มีสิทธิประโยชน์ที่ผ่านการพิจารณาและเตรียมเดินหน้าในปีงบประมาณ 2563 ได้แก่ การตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยา Carbamazepine เพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง, ปรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปีให้เกิดความสะดวกมากขึ้น, เพิ่มบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับอีก 12 รายการรวมเป็น 24 รายการ, เพิ่มการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อให้กลับบ้านได้เร็วขึ้น, การเพิ่มยารักษาโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ โรคที่เกิดจากการทำลายเส้นประสาท และเพิ่มสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ที่ดื้อยา, เพิ่มเครื่องตรวจติดตามค่าน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยเบาหวานเด็ก, เพิ่มวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก และขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ

นอกจากนี้ยังปรับระบบการจัดการให้ประชาชนมีแพทย์ประจำครอบครัวใหม่, การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทุกกลุ่มอายุ โดยปี 2563 ให้ครอบคลุมถึงผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมจากความร่วมมือหน่วยบริการในพื้นที่และ อปท. การเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 นี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนำร่องการจัดบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นและมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น อาทิ นำร่องบริการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ นำร่องการล้างไตผ่านเครื่องอัตโนมัติในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และนำร่องป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี