ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความท้าทายครั้งใหญ่ของโรงพยาบาลบางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อ รพ.ในปริมณฑลต้องรับมือกับการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว จึงต้องสร้าง Gate Keeper ลดความแออัดในโรงพยาบาล แต่ยังติดกับดัก FTE ขาดแคลนบุคลากร แนะ สปสช.ลดความหยุมหยิมระบบเบิกจ่ายเงิน พร้อมพัฒนาก้าวต่อไป "โรงพยาบาลบางกรวย 2"

ด้วยพัฒนาการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ความเจริญขยายตัวไปยังพื้นที่ปริมณฑลโดยรอบ โดยเฉพาะ จ.นนทบุรี ซึ่งมีโครงการรถไฟฟ้าและถนนสำคัญหลายสาย สามารถเดินทางไปกลับเพื่อทำงานในพื้นที่ กทม. ได้อย่างสะดวก พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้คนที่ต้องการที่อยู่อาศัยในราคาที่เอื้อมถึงและสามารถเดินทางเข้าเมืองไปทำงานได้ อย่างไรก็ดีความเจริญเติบโตของเมืองที่มาพร้อมกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นก็เป็นความท้าทายของหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ในการพัฒนาศักยภาพให้รองรับความต้องการของประชาชน

โรงพยาบาลบางกรวย ก็เป็นหนึ่งในหน่วยบริการในพื้นที่ จ.นนทบุรี ที่ปรับตัวรับมือกับความเติบโตของเมืองแบบก้าวกระโดด แต่ด้วยพื้นฐานที่เดิมทีเป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ เมื่อต้องรับมือกับจำนวนผู้ใช้บริการที่มากขึ้น จึงถือเป็นโจทย์หินพอสมควรในการปรับระบบบริการและพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้สูงขึ้นตามไปด้วย

สร้าง Gate Keeper ลดความแออัดในโรงพยาบาล

นพ.วิชัย รัตนภัณฑ์พาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางกรวย กล่าวถึงบริบทของโรงพยาบาลว่าเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง แต่ต้องดูแลประชากรกว่า 1.2 แสนคน ยังไม่รวมถึงประชากรแฝงในพื้นที่อีก ถือว่าปริมาณเตียงไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรอย่างมาก เพราะหากนับตามเกณฑ์มาตรฐานที่ประชากร 1,000 คน ต้องมี 2 เตียง ด้วยปริมาณประชากรขนาดนี้ โรงพยาบาลบางกรวยควรมีขนาดถึง 200 เตียงเลยทีเดียว

นพ.วิชัย รัตนภัณฑ์พาณิชย์

นอกจากนี้ ด้วยความที่โรงพยาบาลตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 2 ไร่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอบางกรวย อีกทั้งต้องรับมือกับผู้ใช้บริการจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อดิ้นรนลดความแออัดของโรงพยาบาล จึงต้องให้ความสำคัญกับระบบ Primary Care เป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันโรงพยาบาลได้ส่งแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงไปประจำคลินิกหมอครอบครัว (PCC) แบบเต็มเวลาจำนวน 5 คน ในพื้นที่ รพ.สต.ปลายบาง, รพ.สต.มหาสวัสดิ์, รพ.สต.วัดจันทร์, ศูนย์สุขภาพชุมชนหมู่บ้านสมชาย และ รพ.สต.บางศรีทอง เพื่อทำหน้าที่เป็น Gate Keeper คัดกรองผู้ป่วยก่อนมาถึงโรงพยาบาล

"สำหรับสิทธิบัตรทองเราใช้ระบบ Visa ถ้าไม่มีใบส่งตัวจาก รพ.สต. จะมาเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ เราตกลงกับผู้รับบริการกันเรียบร้อย ครั้งแรกอาจจะอนุโลมให้ แต่ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าครั้งหน้าต้องไปเริ่มที่ รพ.สต.ก่อน พยายามสื่อสารว่าในพื้นที่ก็มีมีแพทย์เต็มรูปแบบไม่มีอะไรต่างจากที่โรงพยาบาลเลย มีแพทย์ มีแล็บ มีเภสัชกร ถ้าไปเริ่มที่ Primary ก็จะได้รับการดูแลแบบองค์รวม หรือถ้าไม่พึงพอใจบริการในพื้นที่ก็สามารถย้ายสิทธิมาที่ Primary Care ของโรงพยาบาลแทนก็ได้" นพ.วิชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน ถ้าหากผู้ป่วยทำตามกติกา เริ่มต้นจาก Primary Care แล้ว แต่แพทย์ในพื้นที่รักษาไม่ไหว จำเป็นต้องส่งต่อ ผู้ป่วยก็จะเข้า Fast Track มาถึงโรงพยาบาลไม่ต้องทำบัตร รอคิว เพราะถือว่าผ่าน Primary Care มาแล้วสามารถพบแพทย์เฉพาะทางได้เลย

"อันนี้ก็ต้องการให้เกิดความประทับใจว่าไป Primary Care แล้วดีแบบนี้ มาถึงเป็นคนไข้ VIP เลย ไม่ต้องเข้าระบบปกติ" นพ.วิชัย กล่าว

ทั้งนี้ พื้นที่ รพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชนในพื้นที่ของโรงพยาบาลบางกรวยมีทั้งหมด 10 แห่ง ปัจจุบันขยายคลินิกหมอครอบครัวไป 5 แห่ง ส่วนที่เหลือใช้วิธีหมุนเวียนแพทย์ลงไปดูแล รวมทั้งเร่งสร้างแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพิ่มขึ้นให้ครบทุกพื้นที่ จุดแข็งอีกประการของโรงพยาบาลบางกรวยคือเป็นสถาบันสมทบในการฝึกหมอครอบครัวด้วย ทำให้สามารถพัฒนาได้ดีกว่าที่อื่น คาดว่าอีก 1-2 ปี น่าจะได้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเต็มพื้นที่ ถ้าถึงเวลานั้นระบบ Primary Care จะเป็น Gate Keeper เต็มรูปแบบ ส่วนโรงพยาบาลบางกรวยทำหน้าที่ในระดับ Secondary อย่างเดียว

นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า จากการกระจายแพทย์ลงไปอยู่ในพื้นที่ ทำให้ขณะนี้เริ่มเห็นผลลัพธ์เป็นรูปเป็นร่าง ความแออัดในโรงพยาบาลลดลง อัตราส่วนคนไข้ที่ไป PCC ก่อนมาโรงพยาบาลอยู่ที่ 50% เกือบได้ตามเกณฑ์ 60% แล้ว ถือเป็นตัวเลขที่ไม่เลว สามารถตอบโจทย์เรื่องการลดความแออัดในสถานที่ได้

ติดกับดัก FTE ขาดแคลนบุคลากร

อย่างไรก็ดี แม้ระบบ Primary Care จะทำหน้าที่ได้อย่างดี แต่จำนวนผู้ป่วยในกลับเพิ่มขึ้น สาเหตุเนื่องจากมีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลักครบทุกสาขา ทำให้มีศักยภาพในการดูแลคนไข้หนักได้มากขึ้น ผลตอบรับในด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการก็ดีขึ้น คนไข้ให้ความเชื่อถือและไหลมารับบริการมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่โรงพยาบาลมีขนาดเพียง 30 เตียง ทำให้มีภาระงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับความคาดหวังจากผู้รับบริการสูง และความเสี่ยงจากการถูกโจมตีในโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ การปฏิบัติงานจึงมีความเครียดสูง บุคลากรก็ออกจากระบบไปเรื่อยๆ แต่โรงพยาบาลกลับไม่สามารถเติมคนเข้าไปในระบบได้เนื่องจากเป็นโรงพยาบาล F1 ถูกจำกัดจากเกณฑ์ FTE แถมคำนวณออกมาแล้วกลายเป็นว่าคนเกินอีกต่างหาก

"ในอดีต 30-40 ปีก่อน เมืองนนท์ไม่มีความเจริญเลย เหมือนเป็นติ่งเล็กๆ ของ กทม. โรงพยาบาลทุกแห่งมีขนาดเล็ก อย่างโรงพยาบาลบางกรวยมีพื้นที่ 2 ไร่ โรงพยาบาลบางบัวทอง 3 ไร่ โรงพยาบาลปากเกร็ดหนักกว่า มีพื้นที่แค่ 200 ตารางวา โรงพยาบาลเล็กๆ ทั้งนั้น คนไข้ก็มองโรงพยาบาลเหมือนเป็นสถานีอนามัย คนที่มีกำลังจ่ายก็ไปรับบริการใน กทม.หมด แต่ 10 ปีมานี้ความเจริญมาอย่างรวดเร็ว เกิดการก่อสร้างรถไฟฟ้าและถนนสายหลักต่างๆ ทำให้คนไหลมาซื้อบ้านที่นี่ กลางวันเข้าไปทำงานใน กทม. ความคาดหวังก็ต้องสูงแบบคน กทม. รวมทั้งแพทย์ก็อยากย้ายมาอยู่ใกล้บ้าน เราเลยมีแพทย์เฉพาะทางมากขึ้นๆ ความนิยมก็สูงขึ้น จากกลุ่มคนที่ไปโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลักตอนนี้เริ่มไหลมาหาเรา ภาระงานก็เลยเพิ่มขึ้นกระทันหัน แต่ Workload เหล่านี้ยังไม่ถูกนำมาคิด FTE แบบทันการณ์ เราก็เลยยังมีอัตราพยาบาลน้อยกว่าเกณฑ์ จะบรรจุหรือจ้างเองก็ไม่ได้เพราะมีเกณฑ์เหล่านี้มาค้ำไว้" นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิขัย กล่าวต่อไปว่า หากเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลบางใหญ่ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน มีประชากรใกล้เคียง แต่โรงพยาบาลบางใหญ่ถูกมาร์กไว้เป็นโรงพยาบาล M2 ส่วนบางกรวยถูกมาร์กเป็น F1 เวลาคำนวณ FTE จึงใช้คนละฐานคิด โรงพยาบาล M2 มีแพทย์ พยาบาลได้มากกว่า ดังนั้นในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าโรงพยาบาลใน จ.นนทบุรี ไม่ควรเป็นระดับ F แต่ควรเป็นระดับ M ทั้งหมด เพราะทุกโรงพยาบาลดูแลประชากรแสนกว่าคนทั้งนั้น ซึ่งขณะนี้ก็ได้ทำเรื่องขอปรับศักยภาพโรงพยาบาลบางกรวยจากระดับ F1 เป็นระดับ M แล้ว แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ทราบว่าจะได้รับการอนุมัติเมื่อใด

ก้าวต่อไป "โรงพยาบาลบางกรวย 2"

นพ.วิชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโรงพยาบาลบางกรวย 2 ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 ไร่ ติดถนนพระราม 5-นครอินทร์ ใกล้วงเวียนราชพฤกษ์นั้น ถูกวาง Position ให้เป็น OPD Premium อยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างโรงพยาบาลเอกชนที่แพงสุดกู่กับโรงพยาบาลของรัฐ เน้นให้บริการในเวลาสะดวกของประชาชนเป็นหลัก ช่วงไพร์มไทม์อาจเป็นช่วงเย็นหรือวันหยุดราชการ แต่ยังไม่มีส่วนของผู้ป่วยในเนื่องจากติดขัดในเรื่องสภาพพื้นที่ซึ่งจอดรถได้ลำบาก การให้บริการจึงเน้น Turn Over เร็ว เน้นคนไข้ประเภทจอดแล้วจร มารับบริการ 30-60 นาทีแล้วกลับบ้าน

อย่างไรก็ดี ในเฟสถัดไป ยังมีพื้นที่อีก 6 ไร่ที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลบางกรวย 2 อยู่ในการดูแลของบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพ ซึ่งก็คือรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง หากเป็นไปได้ ถ้ากระทรวงสาธารณสุขตั้งงบประมาณให้ซื้อผืนดินแปลงนี้ได้ ความเป็นไปได้ก็มีสูงเพราะเป็นการซื้อขายระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน ถ้าเป็นไปตามนั้น อีก 2-3 ปี โรงพยาบาลบางกรวย 2 ก็จะมีเนื้อที่ 9 ไร่ อาจจะพัฒนาเป็นโรงพยาบาลทั่วไประดับ M1 หรือระดับสูงขึ้นไปก็ได้

"สำหรับผมคิดว่าทำเลของโรงพยาบาลบางกรวย 2 เป็นทำเลที่ดีมากเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลรัฐใน จ.นนทบุรี อาจจะกลายเป็นโรงพยาบาลเรือธงของกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ ทางผู้ตรวจราชการกระทรวงก็ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการซื้อที่ผืนดังกล่าวกับผู้บริหารของบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพแล้ว เมื่อถึงวันนั้น โรงพยาบาลบางกรวย 2 จะมีพื้นที่ 9 ไร่ เหมาะกับการเป็นโรงพยาบาลเต็มรูปแบบ อาจพัฒนาจากให้บริการ OPD อย่างเดียวมาเป็นโรงพยาบาลเต็มรูปแบบ ระดับ M1 หรือเหนือกว่าก็ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข" นพ.วิชัย กล่าว

แนะ สปสช.ลดความหยุมหยิมระบบเบิกจ่ายเงิน

นอกจากภาพรวมและทิศทางของโรงพยาบาลบางกรวยแล้ว นพ.วิชัย ยังให้ข้อคิดเห็นต่อระบบการจ่ายเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีกด้วย โดยมองว่าระบบการจ่ายเงินของ สปสช. เน้นการตั้งรับไม่เน้นการส่งเสริมป้องกัน เช่น แอดมิทมากได้เงินมาก ซึ่งตนมองว่าไม่ถูกต้อง แทนที่จะจ่ายเงินในส่วนของส่งเสริมป้องกันให้มากขึ้น กลายเป็นส่งเสริมป้องกันได้เงินนิดเดียว แล้วจะไปเอื้อให้คนสุขภาพดีได้อย่างไร

"ตามหลักการก็รู้กันอยู่ว่ากันดีกว่าแก้ ป้องกันใช้งบน้อยกว่ารักษา แต่เวลาจ่ายเงินคิดแบบแอดมิทเยอะ เบิกตาม DRG ได้เยอะ อีกทั้งมีรายละเอียดหลักเกณฑ์ยิบย่อย สมมุติ คนไข้เข้ามา 2 คน อาการเดียวกัน แต่คนหนึ่งเก็บรายละเอียดทุกเม็ด อาจจะโอเว่อร์เกินไปด้วย ส่วนอีกคนลงข้อมูลตามจริง หรือขาดไปบ้าง กลายเป็นคนหนึ่งได้เงินน้อยกว่าอีกคนอย่างมีนัยยะสำคัญ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีนี้เพราะไม่ใช่หน้าที่หลักที่เราเรียนมาว่าจะต้องมานั่งคีย์นั่งโค๊ดแบบนั้นแบบนี้ มันสอนให้ทุกคนมุ่งเน้นกับตัวเลขมากเกินไป" นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิชัย เสนอว่า อยากให้ สปสช.เหมาจ่ายเงินรายหัวให้หน่วยบริการมาเลย แล้วก็อย่ามายุ่งอย่ามาวางเกณฑ์กับหน่วยบริการมาก ไม่ต้องมาลงรายละเอียดปลีกย่อยว่าส่งข้อมูลดีได้เงิน QOF เพราะตนมองว่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าให้เงินมาเลย สมมุติหัวละ 3,000 บาท โรงพยาบาลบางกรวยมีประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) 5 หมื่นคน ให้จัดสรรงบประมาณมาเลย 150 ล้านบาท แล้วผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้คล่องตัว ให้โรงพยาบาลบริหารจัดการเองไม่ว่าจะจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ แบบนี้จะตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ทันการณ์ ผู้ให้บริการก็มีความสุข ผู้รับบริการก็ได้ประโยชน์เต็มที่

"นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขน่าจะลองคิดดู จ่ายเหมาไปเลยกี่หัวได้เท่าไหร่ แล้วจะมาประเมินหรือ Audit อย่างไรก็แล้วแต่จะคิดเครื่องมือออกมา เช่น วัดจากความพึงพอใจผู้รับบริการ หรือดูผลงานว่าคนเจ็บป่วยน้อยลง ประชาชนสุขภาพดีขึ้น ฯลฯ ไปวัดตรงนั้นดีกว่า ไม่ต้องมาลงรายละเอียดปลีกย่อย แล้วถ้าจะให้ดีไม่ควรล็อกสถานพยาบาลด้วยซ้ำ ควรให้สิทธิเสรีภาพคนไข้ในการเลือกสถานบริการ พึงพอใจที่ไหนเลือกเอาเลย เช่น โรงพยาบาลบางกรวยมีประชากร UC 5 หมื่นคน แต่ถ้าประชากรพึงพอใจย้ายมาเรื่อยๆ อาจมีประชากร UC จากที่อื่นมาเลือกบางกรวยเพิ่มเป็น 1 แสนคนก็ได้ ส่วนโรงพยาบาลที่ประชาชนไม่พึงพอใจก็จะมีประชากร UC น้อยลง แบบนี้โรงพยาบาลก็แข่งขันกันเอง แฟร์ๆ ไม่ต้องมาใส่ใจกับ DRG มากมาย" นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณภาพจาก Facebook โรงพยาบาลบางกรวย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง