ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้หารือกับคณะนักวิจัยไทยจากสถาบันต่างๆ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทย โดยความร่วมมือกับสหรัฐฯ ภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่ประชาชนไทย ตั้งเป้าวิจัยถอดรหัสพันธุกรรมคนไทยจำนวน 50,000 คน เน้นศึกษาพันธุกรรมเสี่ยงในโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการปาฐกถาพิเศษ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “การดำเนินงานภายใต้สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ ในการนำการแพทย์จีโนมิกส์เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุข (Genomic Medicine Implementation Programs of the National Human Genome Research Institute)” โดย แพทย์หญิง เทอรี่ มาโนลิโอ ผู้อำนวยการฝ่าย Genomic Medicine สถาบัน National Human Genome Research Institute ว่า แพทย์หญิงเทอรี่ นับเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการแพทย์จีโนมิกส์ และเป็นบุคคลสำคัญเบื้องหลังโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศหลายโครงการที่มุ่งเน้นการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรค เช่น โครงการ Population Architecture for Genomics and Epidemiology (PAGE), the Electronic Medical Records and Genomics (eMERGE), the Implementing Genomics in Practice (IGNITE) และ ฐานข้อมูล ClinGen

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะนักวิจัยของไทยยังได้เข้าหารือแนวทางความร่วมมือกับ ผู้แทนของสหรัฐฯ ในการดำเนินการแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ซึ่งเป็นแผนงานความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กระทรวงศึกษาธิการ ในการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทยจำนวน 50,000 คน โดยมุ่งเน้นศึกษาพันธุกรรมเสี่ยงในโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมอ้างอิงของชาวไทย และพัฒนาระบบการบริหารจัดการและแปลผลข้อมูลพันธุกรรม นับเป็นการสนับสนุนให้เกิดการ วินิจฉัย ป้องกัน และรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำตามแนวทาง การแพทย์แม่นยำ ยกระดับการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในธุรกิจด้านบริการการแพทย์และนวัตกรรมสุขภาพ