ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.หนุน จ.บุรีรัมย์ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาการกีฬา ก้าวสู่เมือง “Sport city” ยกระดับเท่านานาชาติ พร้อมจัดเวทีประชุมวิชาการฯ เขตสุขภาพที่ 9 เสนอผลงานและนวัตกรรมทางการแพทย์ มุ่งนำความรู้พัฒนาและสร้างสุขภาพดีให้ประชาชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 62 นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 1 เขตสุขภาพที่ 9 เพื่อเป็นเวทีให้บุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข นักวิจัย นักวิชาการ ผู้สนใจและประชาชนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ได้มีโอกาสนำเสนอ ประกวดผลงานทางวิชาการ เยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัย และผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำผลงานไปใช้ปรับปรุงพัฒนาด้านกีฬา การออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ตลอดจนเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์จังหวัดบุรีรัมย์ให้ก้าวสู่เมืองแห่งกีฬา “SPORT CITY” โดยมีบุคลากรสาธารณสุข นักวิจัย นักวิชาการ บุคลากรทางการศึกษา นิสิต นักศึกษาและประชาชนผู้สนใจ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 2,000 คนเข้าร่วมประชุม ณ สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีสาเหตุสำคัญได้แก่ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ มีภาวะอ้วน การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน เช่น รับประทานอาหารหวาน ไขมันสูง ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 9 มีนโยบายในการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนด้วยหลัก 3 อ. 2 ส. ได้แก่ ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และได้เห็นโอกาสที่สอดคล้องการพัฒนาเมืองบุรีรัมย์ ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ เพื่อก้าวสู่เมืองกีฬา “Sport city” ซึ่งการพัฒนาเมืองบุรีรัมย์ด้วยการกีฬาและออกกำลังกายนี้มีความต้องการวิชาการด้านการแพทย์ การสาธารณสุข เวชศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัยจึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ นวัตกรรมที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และประชาชนในพื้นที่ได้รับบริการที่มีคุณภาพ

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายล่าสุดครั้งที่ 5 ปี 2557 จำนวน 23,760 รายทั่วประเทศ พบว่าสัดส่วนของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอร้อยละ 19.2 มีภาวะอ้วน (BMI >= 25 kg/M2) ร้อยละ 37.5 (ชายร้อยล่ะ 32.9 หญิงร้อยละ 41.8) มีความชุกของภาวะอ้วนลงพุงร้อยละ 26.0 ในผู้ชายและร้อยละ 51.3 ในผู้หญิง มีความชุกของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ความดันโลหิตสูงร้อยละ 24.7 และเบาหวาน 8.9 ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และได้สร้างผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งแท้จริงแล้วโรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง

นายพิจิตร บุญทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา จังหวัดบุรีรัมย์มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก้าวสู่เมืองแห่งกีฬา ที่ขับเคลื่อนด้วยฟุตบอล และมอเตอร์สปอร์ต และกำลังก้าวสู่การเป็น Sport City ที่มีการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งด้าน Sport for Life โดยการส่งเสริมการออกกำลังกายให้เป็นวิถีชีวิต Sport for Excellence พัฒนาโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ให้เป็น Sport Injury Center and Burn Unit, Sport for Event พัฒนาด้านการจัดการภาวะฉุกเฉินให้มีมาตรฐาน Sport for Tourism สนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ Sport for Industry การจัดตั้ง Wellness Center ในโอกาสที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 1 เขตสุขภาพที่ 9 จึงกำหนดหัวข้อ“THE 1st INTERNATIONAL CONFERENCE ON HEALTH REGION HEALTH 9 : Sport and Exercise Science toward Health City เมืองสุขภาพดีสร้างขึ้นได้ ด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย” เป็นประเด็นหลักในการขับเคลื่อนทางวิชาการเพื่อยกระดับมาตรฐานให้มีคุณภาพเทียบเท่านานาชาติ