ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2562  นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.)  ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ว่า ขอชื่นชมโรงพยาบาลพระปกเกล้าที่สามารถทำการตรวจวินิจฉัยรักษาได้ครอบคลุมเทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพ ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานและทันสมัยลดรอคอยเพิ่มความสะดวกการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะแอปพลิเคชั่นPPKCancerCenterCONNECTs เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ อาทิ line@ มาช่วยในการคำให้ปรึกษา คือ “line@เพื่อนคีโมพระปกเกล้า” ตลอด 4 เดือน ให้คำปรึกษาไปแล้วกว่า 500 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่โรงพยาบาลเพื่อรับการบริการสามารถลดความแออัดได้อีกทางหนึ่ง line@เพื่อนไอโอพระปกเกล้า ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ,line@คลินิกรวมใจ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง line@PPKCancerCenter เพื่อสื่อสาร และให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคมะเร็งสำหรับประชาชน

นอกจากนี้ มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อลดระยะเวลาการรอคอย และเพิ่มคุณค่าการรอคอย ได้แก่ 1.ระบบ Smart คิว เป็น application QueQ ที่แบ่งคนไข้ให้ได้รับการรักษาแบบวันเดียวกลับบ้าน เช่น คนไข้ต่างจังหวัด จะสลับการตรวจกับคนไข้ในพื้นที่เพื่อให้คนไข้สามารถมาตรวจและให้ยาเคมีบำบัด ได้ทันในวันเดียวกัน 2.Tele-Medicine : ให้คำปรึกษา ผ่านทาง application มากกว่า 7 หมื่นครั้ง ใน 1 ปีครึ่ง ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ไกล เช่น จ.สระแก้ว ไม่ต้องเดินทางและสามารถให้การรักษา ที่ปลอดภัยเป็นความลับผู้ป่วยรวมทั้งสั่งยาแบบ E-Prescription ได้เสมือนอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา ที่รพ.ปลายทาง และ 3. Smiley Rabbit Score แบบประเมินความพึงพอใจ        ผู้ให้บริการเมื่อมารับบริการเสร็จแล้ว ด้วยการลงคะแนนด้วยบัตร QueQ

ทั้งนี้ โรงพยาบาลพระปกเกล้า เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 755 เตียง มีผู้ป่วยนอกใช้บริการปีละ 7 แสนราย ผู้ป่วยในกว่า 5 หมื่นราย รักษามะเร็งครบวงจรประกอบไปด้วยการผ่าตัด การให้ยาเคมี การฉายแสงรังสีรักษา และการดูแลแบบประคับประคอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเรื่องการฉายแสงรังสีรักษา ที่เริ่มฉายแสงแก่ผู้ป่วย 4 รายแรกแล้วเมื่อ 20 กันยายน 2562 และจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาประมาณ 1,800 ราย โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ป่วยชาย ได้แก่ มะเร็งปอด และตับ โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ป่วยหญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก