ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสียงสะท้อน อสม. ต่อการเพิ่มค่าตอบแทน ทำให้จิตวิญญาณหาย ขณะที่เห็นด้วยกองทุนฌาปนกิจ แต่รายละเอียดมีปัญหาต้องปรับ ส่วนกองทุนบำนาญ ไม่เห็นด้วยหักเงิน เหตุบางคนแค่เดือนละ 100 บ.ก็กระทบแล้ว ด้าน “รมช.สาธิต” รับฟัง พร้อมหาวิธีบริหารจัดการให้ดีที่สุด

น.ส.ยุพิน ภังคะญาณ

น.ส.ยุพิน ภังคะญาณ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) อำเภอเกาะสีชัง จ.ชลบุรี กล่าวถึงนโยบายเพิ่มค่าตอบแทน อสม. ควบคู่เพิ่มศักยภาพ ว่า หากพูดถึงจุดเริ่มของการเกิด อสม.นั้น เป็นการทำด้วยใจ อย่างพวกเราประมาณ 50-60 คน เป็น อสม.มาตั้งแต่แรก ไม่ได้อะไรเลย อย่างรุ่นแรกๆไม่มีค่าตอบแทน แต่ทำด้วยจิตอาสา ไม่ได้จ้องจะเอาเงิน ตนยังกังวลว่า การมีเรื่องค่าตอบแทนเข้ามาจะทำให้เกิดการแบ่งแยก เนื่องจากต้องยอมรับว่า บางส่วนที่เข้ามาทำงานเป็นอสม. ก็ไม่ได้เข้ามาด้วยจิตวิญญาณด้วยจิตอาสา หากเอาเงินเป็นตัวตั้งความเป็นจิตอาสาจะลดลง จะแบ่งพรรคแบ่งพวกกันว่า คนนี้พวกฉัน คนนั้นพวกเขาได้

 เป็นอสม.มา 20 กว่าปี ก็เริ่มเบื่อตรงที่เวลามีเงิน มีค่าตอบแทนมา ก็จะมีคนเข้ามาเยอะ ถามว่าเราต้องทำมาหากินหรือไม่ เราต้องทำ เรามีอาชีพของเรา ไม่ใช่ว่าค่าตอบแทนเดือนละ 600 บาท เดือนละ 1,000 บาท หรือเดือนละ 2,000 บาท จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ไม่ใช่ เพราะจริงๆ เราต้องทำงานอีก ดังนั้น มองว่านโยบายเพิ่มค่าตอบแทนให้อสม.ต้องพิจารณาดีๆ อาจสร้างปัญหาให้กระทรวงก็ได้ เพราะสุดท้ายคนก็จะร้องเรียนไปเรื่อยๆ ว่าทำไมไม่ได้ คนนี้ได้ คนนี้ไม่ได้ 

ประธาน อสม.อำเภอเกาะสีชัง กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เปลี่ยนจากเงินค่าตอบแทน มาเป็นสิ่งของเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ อสม.ในการลงพื้นที่ เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต ทุกคนไม่มี มีเฉพาะประธานตำบล ประธานหมู่ และแต่ละเคสก็อยู่ห่างไกลกัน หากมีสักหมู่ละ 2 เครื่อง ก็จะทำงานได้รวดเร็ว ไม่ต้องวิ่งมาที่โรงพยาบาล อย่างผู้ป่วยบางคนต้องวัดความดันตลอด บางคนทุก 2 ชั่วโมงก็มี หากไปยืมของโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็ขาดเครื่องมือ แต่ถ้ามีประจำไปเลยก็จะดีกว่า ดังนั้น ควรมองว่า อสม.ทำอะไรที่จำเป็นก็สนับสนุน เช่น การเจาะเลือด การวัดความดัน ก็ควรมีเครื่องมือสนับสนุน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าจัดงบประมาณให้แต่ละหมู่บ้านไปเลยดีหรือไม่ เพื่อให้ทางอสม.มาพิจารณาสิ่งไหนจำเป็นต่อหมู่บ้าน น.ส.ยุพิน กล่าวว่า แบบนั้นก็ดี เพราะเคยมีเหมือนกัน แต่ปัจจุบันโอนไปให้เทศบาลแล้ว ซึ่งเทศบาลไหนสนับสนุนก็ดี แต่ก็มีบางเทศบาลไม่สนับสนุนก็จะแย่ เพราะบางเทศบาลก็ไม่มีการแบ่งงบประมาณไว้ให้

เมื่อถามว่า กรณีแนวคิดการก่อตั้งกองทุนฌาปนกิจ และกองทุนบำนาญให้ อสม. น.ส.ยุพิน กล่าวว่า เป็นเรื่องดี แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่ได้เปิดบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นปัญหามาก เนื่องจากไปกำหนดว่าใครจะเข้ากองทุนก็ต้องเปิดธนาคารนี้ อย่างบนเกาะสีชัง ไม่มีธกส. ต้องข้ามฝั่งเพื่อไปเปิดบัญชี 500 บาท จริงๆน่าจะอะลุ่มอล่วยหน่อย ซึ่งจริงๆ กองทุนฌาปนกิจก็ยังไม่นิ่ง พวกเราก็รอก่อนดีกว่า อย่างไรก็ตาม สนับสนุนกองทุนฌาปนกิจ เพียงแต่รายละเอียดอาจต้องให้อสม.สะดวกมากขึ้นด้วย ไม่ใช่จำกัดว่า ต้องธนาคารนี้เท่านั้น จริงๆธนาคารไหนก็น่าจะได้

ส่วนกองทุนบำนาญนั้น มองว่า เยอะเกินไปหากต้องมาหักเงินจากค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ เพราะอสม.บางคนก็ไม่ได้มีเงินมากพอ และการจะมาหักเงินเพื่อเก็บสะสมก็กระทบการเงินอสม.ได้ ประเด็นนี้อยากให้ถามอสม.ส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่แค่ถามเฉพาะประธานเท่านั้น ต้องลงมาถามในพื้นที่เลย 

เมื่อถามว่าหากกองทุนบำนาญอสม รัฐสมทบให้ 200 บาท และหักอสม.อีก 100 บาททุกเดือนเพื่อสะสมจะเห็นด้วยหรือไม่ ประธาน อสม. ฯ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าก็ไม่ต้องให้ค่าตอบแทน แต่ไปเฉลี่ยเงินส่วนนี้ดีกว่าว่า จะให้อสม.อย่างไร อาจเป็นเพิ่มสิทธิสวัสดิการค่ารักษา เงินพิการ เอาไปทำกองทุนเองดีกว่า ไม่ต้องมาเรียกเก็บหรอก จริงๆ สำหรับตัวเองเดือนละ 100 บาทไม่ได้มาก หักได้ แต่สำหรับบางคนอาจไม่ใช่

สาธิต ปิตุเตชะ

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวว่า ก็ต้องขึ้นอยู่กับ อสม. แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลก็มีงบประมาณน้อยในภาวะแบบนี้ และจำนวนอสม.มีกว่า 1 ล้านคน เราก็ต้องหาวิธีในการบริหารจัดการที่จะไม่กระทบแต่มีความก้าวหน้าในแง่การบริหารจัดการ โดยจุดแข็งของอสม. คือ จำนวนมาก เงินมาก บริหารดีๆมีเงินเพิ่ม พวกเขามีหลักประกัน แต่จุดอ่อน คือ รัฐไม่มีเงินจะจ่ายตามจำนวนที่มากแบบนี้ จึงต้องคิดวิธีว่า จะใช้ตรงไหนในการบริหารเพื่อให้ได้เงินเพิ่มด้วย ยกตัวอย่าง เก็บเงินอสม.คนละ 100 บาทต่อเดือน หากทุกคนจ่ายก็จะเข้ากองทุนปีละ1,200 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำเงินไปต่อยอดเพิ่มให้ได้ หรือเอาดอกเบี้ยมาทำอะไรก็ได้ เพราะเงินจำนวนมาก ตรงนี้ก็ต้องพิจารณากันอีกเช่นกัน