ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เผยผลการประเมินรอบ 9 เดือนหลังพลิกโฉมเป็นสมาร์ท ฮอสปิตอล ตอบโจทย์การเป็นรพ.เฉพาะทางจิตเวชประจำเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ 3 ลด 3 เพิ่ม พบว่าได้ผลคุ้มค่า โดยเฉพาะที่แผนกโอพีดี ผู้ป่วยใช้เวลาหาหมอเพียง 110 นาที ก็ได้กลับบ้าน โดนใจผู้ใช้บริการสูงถึงร้อยละ 95 แก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชขาดนัดได้ร้อยละ 90 เตรียมขยายผลในปีต่อไปอีกหลายเรื่องอาทิ เทเลเมดิซีน ใช้ระบบยืนยันตัวตนผู้ป่วยด้วยใบหน้าแทนบัตรประชาชน และต่อยอดสู่เวอร์ชั่น รพ.มือถือ

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้ปรับโฉมบริการด่านหน้าหรือบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกที่เรียกว่าแผนกโอพีดี เข้าสู่การเป็นรพ.สมัยใหม่ หรือสมาร์ท ฮอสปิตอล (Smart Hospital) ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาพัฒนาคุณภาพบริการ เพิ่มความคล่องตัว พัฒนาสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อมเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของ รพ.จิตเวช คือ สวยงาม ทันสมัย สบายตา สบายใจตามนโยบายของกรมสุขภาพจิตและกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา เพื่อตอบโจทย์การเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชประจำเขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ ครอบคลุม 4 จังหวัดคือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ด้วยมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่มคือ ลดเวลารอคอย ลดความแออัด ลดรอยมลทินหรือตราบาปให้ผู้ป่วยจิตเวช และเพิ่มความพึงพอใจ เพิ่มความปลอดภัย และเพิ่มการรักษาต่อเนื่อง ผลการประเมินในรอบ 9 เดือนมานี้พบว่าได้ผลดีและคุ้มค่า โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขาดนัดของผู้ป่วยจิตเวชที่ป่วยเรื้อรัง อาการยุ่งยากซับซ้อนรุนแรง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในอดีตมาอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า ในด้านของการบริการ ซึ่งมีผู้ป่วยตรวจรักษาเฉลี่ยวันละ 320 คน ระบบคิวอัตโนมัติและขั้นตอนบริการที่สั้นลงและลื่นไหลต่อเนื่อง ใช้ระบบเวชระเบียนผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบอีเอ็มอาร์ (Electronic Medical Record : EMR) บันทึกประวัติการตรวจวินิจฉัยรักษาของผู้ป่วยทั้งหมดลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการเขียนด้วยลายมือลงในแผ่นกระดาษ เชื่อมโยงระหว่างห้องตรวจแพทย์ ห้องแล็ปต่างๆ และห้องยา เพิ่มความแม่นยำ มีระบบจัดยาอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้ป่วยและญาติได้รับความสะดวก รวดเร็ว ไม่แออัด ใช้เวลาอยู่รพ.เฉลี่ยเพียง 110 นาที ก็สามารถรับยากลับบ้านได้ ขณะนี้ รพ. ยังได้จัดบริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียวให้แก่กลุ่มผู้ป่วยรายเก่าที่รับยาเดิมเป็นการเฉพาะด้วย พบว่ามีความรวดเร็ว ผู้ป่วยได้รับการตรวจประเมินความก้าวหน้าอาการและรับยากลับบ้านภายในเวลา 25 นาที จากเดิมที่ใช้เวลานานกว่า1 ชั่วโมง สร้างความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการสูงถึงร้อยละ 95

สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยรายเก่า ที่ต้องมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการเรื้อรัง รุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อนและเสี่ยงก่อความรุนแรงเช่น ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาซ้ำ หรือมีประวัติเคยทำร้ายตัวเอง เป็นกลุ่มที่จิตแพทย์ต้องติดตามผลหลังจากจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ทุก 1-3 เดือน ซึ่งมีประมาณ 5,000 คน เฉลี่ยวันละ 60 คน หรือประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยนอก ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มนี้มาตรงนัดประมาณร้อยละ 70 หลังจากที่นำระบบข้อความสั้น หรือเอสเอ็มเอส (SMS) ส่งย้ำเตือนนัดล่วงหน้า 1 วัน พบว่าได้ผลดีมาก ผู้ป่วยมาตรงตามนัดมากขึ้นถึงร้อยละ 90 ผลดีของการมาพบแพทย์ตามนัดจะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชได้รับยาต่อเนื่องและไม่มีอาการทางจิตรบกวนเช่น หูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนมีความปลอดภัย

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการของ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้วางแผนพัฒนาต่อยอดสมาร์ท ฮอสปิตอล ให้สอดรับกับโลกยุคดิจิทัล เพื่อรองรับบริการผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่เขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์อีกหลายเรื่อง เช่น ในด้านบริการจะลดความแออัด โดยจะใช้เทเลเมดดิซีน (Telemedicine)ตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสถานพยาบาลเครือข่ายในเขตนครชัยบุรินทร์ คนไข้ที่อยู่ในเขตเมืองสามารถไปรับยาที่ร้านยาที่ทำบันทึกข้อตกลงไว้ และจะนำระบบการยืนยันตัวตนของผู้ป่วยด้วยใบหน้า (Face Identification) มาใช้แทนการแสดงบัตรประชาชน สามารถติดต่อกับรพ.ผ่านทางเครือข่ายโซเซียลได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อถึงประวัติการรักษาของผู้ป่วยได้ทันที มีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลผู้ป่วย 100 เปอร์เซ็นต์ และต่อยอดบริการเป็นระบบ ไดรว์-ทรู (Drive-Thru) หรือเป็น รพ.ในมือถือในปีต่อไป เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ผู้ป่วยจิตเวชมีความเป็นส่วนตัว สามารถรับบริการโดยไม่ต้องจอดรถแล้วลงไปนั่งรอคิวตรวจอีกต่อไป เช่นเดียวกับภาคธุรกิจฟาสฟู้ด ธนาคาร เป็นต้น