ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอประสิทธิ์ชี้ สามเหลี่ยมระบบสุขภาพที่ดี คือ ผู้บริหารประเทศ ผู้ให้การรักษา และผู้ป่วย ญาติ ผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน ในประเทศที่มีระบบสุขภาพที่ดีจะให้ความสำคัญกับทั้ง 3 ส่วนเท่าๆกันเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า แต่ในไทย ผู้ป่วย ญาติและผู้บริโภค ได้รับความสำคัญน้อยเมื่อเทียบกับส่วนอื่น

"ถามว่า Patient Involvement มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เมื่อ 2 ปีก่อนมีการประเมินสถาบันที่ได้ความปลอดภัย 100% หรือเกือบ 100% ในเรื่อง Hand Hygiene พบว่าโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จมีการนำคนไข้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ”

เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายสุขภาพ จัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย โดยในงานดังกล่าวได้เชิญ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ระบบบริการสุขภาพไทยน่าไว้วางใจด้วย 2P Safety"

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าดูแหล่งข้อมูลต่างๆจะพบบ่อยครั้งว่าในระบบบริการสุขภาพไม่ว่าประเทศใดก็ตาม อัตราการเสียชีวิตหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้มารับบริการจำนวนไม่น้อยเกิดจาก Human Error ซึ่ง Error ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะยาวคือผลกระทบโดยตรงกับสังคมที่กลับมามองระบบสุขภาพ ถ้าเกิดเหตุการณ์หลายๆครั้งก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทำให้คนในประเทศไม่ไว้วางใจระบบ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่อง Patient Safety องค์การอนามัยโลก (WHO) พูดมานานตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ผ่านมา 20 ปี ก็ยังเป็นเรื่องที่พูดต่อเนื่องเพราะยังมีช่องว่างอีกมากมายที่ไม่ได้ทำ ในส่วนของประเทศไทยเอง ในปี 2559 ได้มีการนำเกณฑ์ปฏิบัติของ WHO มาประเมินว่าภายใต้ Patient Safety Goal ไทยเราทำไปแล้วมากน้อยแค่ไหน พบว่ามี 2 เรื่องที่ยังทำน้อย คือเรื่อง Patient Involvement หรือการดึงสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการวางระบบสุขภาพ รวมทั้งเรื่อง At Work Monitoring หรือการเฝ้าติดตามผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นในสถานบริการและนำไปสู่การป้องกันในระดับประเทศได้ทั้งหมด ดังนั้นทีมงานที่ทำเรื่อง Patient Safety จึงได้พัฒนากลยุทธ์ขึ้นมา 2 กลยุทธ์เพื่อปิดช่องโหว่นี้คือ 1.ทำอย่างไรจะดึงสังคมเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิด Patient Safety Care และ 2.ทำอย่างไรจะทำให้เกิดการรายงานภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วนำไปสู่กระบวนการการเรียนรู้

ทั้งนี้ ในส่วนของ Patient Involvement นั้น อยากฉายภาพให้เห็นว่าระบบสุขภาพที่ดีจะต้องประกอบด้วย 3 Party หรือสามเหลี่ยม คือ ผู้บริหารประเทศ ผู้ให้การรักษา และผู้ป่วย ญาติ ผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน ในประเทศที่มีระบบสุขภาพที่ดีจะให้ความสำคัญกับทั้ง 3 ส่วนเท่าๆกันเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า แต่ในไทย ผู้ป่วย ญาติและผู้บริโภค ได้รับความสำคัญน้อยเมื่อเทียบกับส่วนอื่น

"ถามว่า Patient Involvement มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เมื่อ 2 ปีก่อนมีการประเมินสถาบันที่ได้ความปลอดภัย 100% หรือเกือบ 100% ในเรื่อง Hand Hygiene พบว่าโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จมีการนำคนไข้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ขยายความว่า ตอนนั้นโรงพยาบาลต่างๆมีการติดประกาศเชิญชวนให้หมอล้างมือก่อนดูคนไข้คนต่อคนเพื่อป้องกันการติดเชื้อแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนโรงพยาบาลที่ทำสำเร็จจะเชิญผู้ป่วยกับญาติมามีส่วนร่วม มีการแนะนำว่าเวลาหมอหรือพยาบาลจะเข้ามาดูแลผู้ป่วย เพื่อป้องกันตัวผู้ป่วยจากการติดเชื้อจากคนไข้คนอื่น ให้ถามหมอพยาบาลได้ว่าล้างมือแล้วหรือยัง ขณะเดียวกันโรงพยาบาลยังประสบความสำเร็จตรงที่ว่าหมอไม่รู้สึกว่ากำลังถูกจับผิดหรือถูกตำหนิ แต่รู้สึกดีที่คนไข้ช่วยเตือนเพราะบางทีก็ยุ่งจนลืม สุดท้ายกลายเป็นการทำงานที่ประสานกัน สามารถทำได้ 100% ในเรื่อง Hand Hygiene นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆของ Patient Safety ที่คนไข้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากการดูแลสุขภาพตัวเอง

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังยกตัวอย่างโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งพยายามสร้าง Patient Involvement ด้วยการชักชวนคนไข้ให้ทักหมอ ถามหมอ เช่น การบอกว่าป่วยเป็นอะไร ถามผลข้างเคียงของยาหรือมีภาวะแทรกซ้อนอะไรที่ต้องระวัง และที่ทำไปมากกว่านั้นคือพยายามทำให้ Doctor and Patient Relationship ดีขึ้น พยายามทำให้เกิดการแชร์ความห่วงใยกัน เช่น คำว่าหมอเหนื่อยไหม ได้นอนหลับแล้วหรือยัง เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในศิริราชทั่วไปและถือเป็นสิ่งที่ดี

ในส่วนของ At Work Monitoring นั้น ประเทศไทยมีระบบ National Reporting and Learning System คือระบบที่สามารถรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในโรงพยาบาลแล้วนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับที่อื่น ปัจจุบันเชื่อว่าแต่ละโรงพยาบาลมีการทำรายงานเหตุการณ์เหล่านี้แต่ทำเฉพาะภายใน ตนเป็นประธานคณะอนุกรรมการที่ทำงานเรื่องนี้ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ยาก การจะสร้าง Patient Safety ในประเทศไทยนั้นอยากให้รู้สึกว่าความผิดพลาดในการดูแลสุขภาพไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ที่เลวร้ายคือผิดพลาดซ้ำซาก แต่หากสามารถนำความผิดพลาดนั้นไปถ่ายทอดโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าใครทำผิดพลาด แต่เอาเหตุการณ์นั้นรายงานว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยไม่มีการ Identify ว่าเกิดขึ้นที่ใด โรงพยาบาลมีแนวทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไรก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ขณะเดียวกัน หากรายงานแล้วหากโรงพยาบาลแห่งนั้นยังไม่รู้จะจัดการอย่างไรก็จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆมาวิเคราะห์หาทางออกและโพสต์กลับมา ทำให้เกิดลูปของการเรียนรู้ ความผิดพลาดจากแห่งหนึ่งจะไม่เกิดซ้ำอีก นี่คือ National Reporting and Learning System

"เดิมทีเรื่อง National Reporting and Learning System เราอยากให้เป็นความสมัครใจ อยากให้โรงพยาบาลต่างๆเข้ามาเพราะความตั้งใจทำให้เกิด 2P Safety ไม่อยากบังคับ แต่กระทรวงสาธารณสุขกลัวว่าการสมัครใจอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เลยกำหนดให้ทุกโรงพยาบาลมีหน้าที่ทำตนให้ได้ตามเป้าหมาย 2P Safety Goal และใช้กลไกขับเคลื่อนผ่านทาง สรพ. เพราะอย่างไรทุกโรงพยาบาลก็ต้องได้รับการประเมินมาตรฐานและคุณภาพก็เลยมีการบรรจุสิ่งเหล่านี้เข้าไปในมาตรฐาน ดังนั้นโรงพยาบาลที่ผ่าน HA ก็คาดได้ว่ามีกระบวนการที่ทำให้เกิด 2P Safety อยู่ในโรงพยาบาลนั้นๆ" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาล 370 แห่งที่เข้าร่วมในระบบ National Reporting and Learning System มีรายงานเข้าระบบมาแล้ว 2 แสนเหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็น Patient Safety และ เรื่อง Personal Safety อีกประมาณ 25,000 เหตุการณ์ เหตุการณ์เหล่านี้จะถูกแยก Category โดยถ้าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ่อยและเกิดในหลายโรงพยาบาล แบบนี้อาจมองว่าในเชิงระบบการดูแลมีปัญหา กระบวนการเรียนรู้คือทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น จะมีการวิเคราะห์และโพสต์ Solution การแก้ไขเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ตั้งเป้าว่าจะพยายามเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมระบบ National Reporting and Learning System ให้ได้ถึง 700 แห่ง โดยโรงพยาบาลใดที่ยังไม่มีระบบนี้ก็สามารถติดต่อเพื่อนำซอฟต์แวร์ไปติดตั้งได้

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายใต้ 3 Party หรือสามเหลี่ยมที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพ จะมีคีย์เวิร์ดที่สำคัญอยู่ตรงกลางคือคำว่า Trust ถ้ารัฐบาลไม่ Trust ผู้ดูแลสุขภาพ งบประมาณที่กำหนดมาจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจนสุดท้ายไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้ หรือเมื่อไหร่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการไม่ Trust กันก็เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งคำว่า Trust จะเกิดขึ้นได้ต้องมี Quality Reliability และ Accountability สุดท้ายฝากให้คิดว่า Trust ใช้เวลาเป็นสิบๆปี แต่บางทีเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียงเรื่องเดียวแล้วดำเนินการไม่ถูกต้อง Trust ก็จะหายไปในวินาทีเดียวและบ่อยครั้งไม่กลับมาอีกเลย ดังนั้นทุกคนจำเป็นต้องรักษา Trust อย่างสม่ำเสมอให้คงอยู่ในระบบสุขภาพ และทำให้ทั้ง 3 Party นี้เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน