ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“รพ.ศิริราช” จับมือ “เพอเซ็ปทรา” พัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอช่วยวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ทรวงอก แจงโรคเกี่ยวกับปอด เช่น มะเร็งปอด วัณโรค ปอดอักเสบ เป็นกลุ่มโรคติดอันดับทำคนไทยเสียชีวิตมากที่สุดแทบทุกปี ส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยเมื่อสายไปแล้วที่จะรักษา การใช้ AI ร่วมกับความเชี่ยวชาญของกลุ่มแพทย์รังสีที่จะช่วยแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการร่วมวิจัย และพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรังสีวินิจฉัย โดยมี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ลงนามความร่วมมือกับ นายชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และ น.ส.สุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ร่วมด้วย รศ.นพ.พิพัฒน์ เชี่ยววิทย์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ดร.วราสิณี ฉายแสงมงคล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.นพ.ตรงธรรม ทองดี รองหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 1 ตึกอำนวยการ ชั้น 3 รพ.ศิริราช

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคเกี่ยวกับปอด เช่น โรคมะเร็งปอด วัณโรค ปอดอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่ติดอันดับทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดแทบทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคเหล่านี้จะได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกเมื่อสายไปแล้วที่จะรักษา ปัจจุบันการคัดกรองโรคด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกเป็นวิธีการที่สะดวก ต้นทุนถูก และปลอดภัยที่สุด แต่การที่จะวินิจฉัยโรคปอดจากภาพถ่ายเอกซเรย์ให้ได้ความแม่นยำสูง ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์รังสีวินิจฉัยเฉพาะทาง ซึ่งปัจจุบันมีความขาดแคลนอย่างมาก ดังนั้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับความเชี่ยวชาญของกลุ่มแพทย์รังสีที่มีประสบการณ์ จึงมีส่วนสำคัญที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมุ่งเน้นการทำวิจัยและการนำองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์มาพัฒนาให้ก่อเกิดคุณประโยชน์แก่วงการสาธารณสุขของประเทศไทย จึงเกิดความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ในการวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายรังสีทรวงอก

น.ส.สุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด กล่าวว่า บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และบิ๊กดาตา (Big Data) โดยในปี 2562 เพอเซ็ปทราได้พัฒนาโซลูชันปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ เป็นโมเดลการเรียนรู้เชิงลึกที่สามารถคัดกรองโรคจากภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกได้ 14 สภาวะ ที่แพทย์ทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บแอปพลิเคชันที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยสูง ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์รังสี สามารถเข้าถึงบริการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้มากขึ้น ช่วยให้การตรวจพบความผิดปกติของปอดในระยะเริ่มต้นมีโอกาสสูงมากขึ้น โดยคาดว่าจะเปิดตัวแอปพลิเคชันให้โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน รถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ได้ใช้ภายในต้นปี 2563

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนาสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างบุคคลากรของทั้งสองฝ่าย ในด้านการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์ และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอกเบื้องต้นอย่างถูกต้องและแม่นยำตามหลักวิชาและมาตรฐานทางการแพทย์

ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแพทย์ในหลายภาคส่วน แต่ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้งานในโรงพยาบาลอย่างจริงจัง เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ความน่าเชื่อถือของระบบปัญญาประดิษฐ์ ความถูกต้องแม่นยำ รวมถึงการใช้งานที่ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร ดังนั้นความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานจะช่วยพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงการช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)