ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.บ้านนาเมือง ชูไฮท์ไลท์แอปฯ อสม.ออนไลน์ ทำโครงการ "พาคนดีไปเยี่ยมคนป่วย" ให้ อสม.แจ้งเหตุคนป่วยในพื้นที่ แล้วหมออนามัยลงพื้นที่เยี่ยมบ้านตามพิกัดที่ อสม.แจ้งมาเพื่อช่วยดูแลหากมีปัญหาสุขภาพ แนะนำวิธีการดูแลต่อเนื่อง ญาติก็ไม่ต้องลำบากพาคนป่วยขึ้นรถมาถึง รพ.สต.

นายวิบูลย์ ทนงยิ่ง

นายวิบูลย์ ทนงยิ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านนาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด หนึ่งในหน่วยบริการที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับจังหวัดในโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 1 และ 2 เปิดเผยว่า การประกวดในปีที่ 3 นี้ รพ.สต.ได้ส่งประกวดเช่นเดิม โดยภาพรวมของการใช้งานในขณะนี้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั้ง 235 คนของ รพ.สต. สามารถใช้งานแอปฯได้ครบทั้ง 100% โดยใช้ระบบให้ อสม.ช่วยเหลือกัน อสม.ที่เป็นผู้สูงอายุไม่มีลูกหลานช่วยสอน ก็ให้เพื่อน อสม.ช่วยสอนการใช้งานให้ ส่วนฟังก์ชั่นที่ใช้งานหลักๆ เช่น การส่งแบบรายงาน อสม.1 การส่งรายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย การใช้ห้องรายงานเหตุทั้ง 5 หัวข้อที่ทางผู้พัฒนาแอปฯได้จัดทำขึ้นคือการเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง เยี่ยมผู้สูงอายุ ผู้สูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งการแจ้งพิกัดที่ อสม.ลงพื้นที่ เช่น อสม.ไปเยี่ยมบ้านเลขที่ 1 ก็จะส่งพิกัดบ้านเลขที่ 1 มาให้ด้วยและมีกราฟแสดงว่าค่าลูกน้ำยุงลายของบ้านนี้เป็นอย่างไร เป็นต้น

นอกจากการใช้งานเหล่านี้เป็นปกติแล้ว สิ่งที่เป็นไฮไลท์การใช้แอปฯของ รพ.สต.ในปีนี้คือการทำโครงการ "พาคนดีไปเยี่ยมคนป่วย" โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นคือให้ อสม.แจ้งเหตุกรณีมีผู้ป่วยเกิดขึ้นในพื้นที่หรือโรงพยาบาลส่งตัวกลับมาพักฟื้นในชุมชน รวมทั้งรายงานปัญหาของผู้ป่วยที่ต้องให้หมออนามัยเข้าไปดูแลเพิ่มเติมผ่านทางแอปฯอสม.ออนไลน์ จากนั้นคนดีซึ่งก็คือหมอและ อสม.ก็จะไปเยี่ยมบ้านคนป่วยตามที่ อสม.แจ้งมาเพื่อช่วยดูแลหากมีปัญหาสุขภาพ แนะนำญาติหรือ อสม. ในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและวิธีการดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้อาจมีเวชภัณฑ์ เครื่องมือทำแผล ฯลฯ ไปสอนให้ แล้วแต่รายกรณีไป

"ข้อดีเบื้องต้นที่เห็นชัดๆ คือถ้าเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง การเดินทางมา รพ.สต.ไม่สะดวก เมื่อทำโครงการแบบนี้ญาติก็ไม่ต้องลำบากพาคนป่วยขึ้นรถมา โครงการนี้เริ่มผ่านแอปฯอสม.ออนไลน์ในปีนี้ ผลลัพธ์ก็ดีขึ้น ญาติพอใจ ผู้ป่วยก็พอใจ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อย" นายวิบูลย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี นายวิบูลย์ยอมรับว่าแม้อัตราการใช้แอปฯของอสม.จะอยู่ที่ 100% แล้ว แต่การทำงานก็ยังมีข้อติดขัดบ้าง เช่น จำนวน อสม.ที่มากถึง 235 คน การดูแลจะคล่องตัวน้อยกว่า รพ.สต.ที่มี อสม.จำนวนน้อย นอกจากนี้ความครอบคลุมในการทำรายงานต่างๆแม้จะมีมากขึ้นแต่ก็ยังไม่ 100% เพราะ อสม.บางคนเครื่องโทรศัพท์มือถือความจุน้อย อินเทอร์เน็ตช้า หรือบางคนใช้ Wi-Fi ทำให้ใช้ได้แค่ที่บ้าน เป็นต้น

นายวิบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่าอยากให้ รพ.สต.อื่นๆลองมาใช้แอปฯอสม.ออนไลน์ดู เพราะช่วยเพิ่มความสะดวกในการประสานงานกับอสม.และการดูแลคนป่วยในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ก็ทำงานง่ายขึ้น เช่น แต่ก่อนทำแบบรายงาน อสม.1 รายงานไข้เลือดออก ต้องมีคนสรุปข้อมูล แต่ถ้าใช้แอปฯนี้ก็จะประมวลผลให้เลย ตอนแรกๆที่บอกให้ อสม.ของบ้านนาเมืองส่งรายงานประจำเดือนและรายงานการสำรวจลูกน้ำยุงลายผ่านแอปฯ ก็มีบางส่วนที่ลำบากใจ แต่เมื่ออธิบายทำความเข้าใจและ อสม.ได้ลองใช้จริงก็รู้สึกแฮปปี้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันแทบไม่ต้องใช้กระดาษแล้วยกเว้นแต่จะพิมพ์ออกมาเก็บไว้เท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง