ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

24 องค์กรสาธารณสุขร่วมผลักดันการใช้ยาอย่างสมเหตุผล พร้อมส่งเสริมธรรมาภิบาลในระบบยา นำเกณฑ์จริยธรรมมาใช้ในการส่งเสริมการขายยา เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็น ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือ RDU Country ในปี 2565

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เปิดเผยว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use หรือ RDU country) ภายใน พ.ศ. 2565 องค์กรภาคี 24 องค์กรที่ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงเรื่องการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระบบยา ได้ร่วมประชุมในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลในระบบยา: ความก้าวหน้าเพื่อการร่วมมือสู่สากล” เพื่อระดมความคิดเห็นในการยกระดับประสิทธิภาพการจัดการระบบสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการใช้ยาและใช้ยาเท่าที่จำเป็น ลดความสูญเสียจากการดื้อยาหรือเสียชีวิต ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์จะใช้ยาที่สอดคล้องกับผู้รับบริการมากขึ้น และโรงพยาบาลจะมีการบริหารค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อเศรษฐกิจและประเทศ

“การใช้ยาไม่สมเหตุผลและการใช้ยาในอัตราส่วนที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ เราต้องการกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนของการผลิตยา บริหารยา หรือใช้ยา มีความตระหนักถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดภัยในการใช้ยา เราเริ่มด้วยจริยธรรม โดยการนำเกณฑ์จริยธรรมมาใช้ในการซื้อขายยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งมีการประกาศใช้ในโรงพยาบาล การนำมาใช้ในระบบการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการใช้ยา ทั้งในสถานพยาบาลและนอกสถานพยาบาล เช่น ร้านขายยา ณ วันนี้ กระบวนการที่เราทำมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เราเน้นไปที่เรื่องของการตระหนักรู้ การสร้างจิตสำนึกในการใช้ยาให้สมเหตุผล ผมเชื่อว่า ทั้งหมดนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความยั่งยืน” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ภญ.บุษกร เลิศวัฒนสิวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือพรีม่า (PReMA) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสนับเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ภายใต้ความร่วมมือของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ และสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ได้ดำเนินการเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านเกณฑ์จริยธรรม ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องการสร้างธรรมาภิบาลในระบบยาของ 24 องค์กรหลัก โดยภาคอุตสาหกรรมได้ประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์จริยธรรมแบบควบคุมตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรีม่าได้มีการพัฒนาและปรับปรุงเกณฑ์จริยธรรมมาโดยตลอดจนถึงปีปัจจุบันนับเป็นฉบับที่ 12 ควบคู่กับการจัดอบรมและรับรองพนักงานของผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบตามเกณฑ์จริยธรรมของสมาคม รวมถึงได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมระดับนานาชาติ เช่น APEC Business Ethics for SMEs Forum มาอย่างต่อเนื่องทุกปี

“สำหรับประเทศไทย ความร่วมมือโดยมีการเซ็น MOU ของทุกภาคส่วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีรูปธรรม ความเชื่อมโยงต่อเนื่องที่จะมีแนวปฎิบัติด้านธรรมาภิบาลร่วมกัน ตั้งแต่ต้นน้ำคือผู้คิดค้นยา ผลิตยา ผู้ให้ข้อมูลทางด้านยา สู่ บุคคลากรทางการแพทย์ ไปสู่ ผู้บริโภค ผู้ป่วย เพื่อคุณภาพการรักษาที่ถูกต้อง และได้รับความเชื่อมั่น เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง และประเทศไทยภายใต้การมุ่งสู่ RDU country อันจะก่อให้เกิดผลที่ดีอย่างยิ่งต่อทั้งระบบสาธารณสุขโดยรวม และเพิ่มเศรษฐกิจของประเทศ การประชุม “ธรรมาภิบาลในระบบยา: ความก้าวหน้าเพื่อการร่วมมือสู่สากล” ครั้งนี้มีการนำเสนอกรณีศึกษาจากหลายประเทศ อาทิ แคนาดา ออสเตรเลีย ชิลี เม็กซิโก ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุข และตอกย้ำให้เห็นว่า เกณฑ์จริยธรรมเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาได้อย่างเห็นผล รวมทั้งการนำระบบให้คำแนะนำ (Consultation) มาใช้แทนการร้องเรียน (Complain) และการวางกรอบด้านธรรมาภิบาลที่ชัดเจน เพื่อปรับใช้และทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน” ภญ.บุษกร กล่าว

ด้านนายแอนดรูว์ เบลซี เลขาธิการฝ่ายวิชาการ ด้านการส่งเสริมจริยธรรมธุรกิจ สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มเอเปค กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือของทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพในการดำเนินการด้านจริยธรรมทางธุรกิจ เพราะการขาดจริยธรรมทางธุรกิจเป็นสิ่งที่บั่นทอนความไว้วางใจของผู้ป่วย ทำให้การแข่งขันไม่เท่าเทียม ปิดกั้นโอกาสการสร้างนวัตกรรมและการลงทุน ภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบสาธารณสุขแตกแยกกันและมีมาตรฐานการทำงานไม่สอดคล้องกัน ส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณการค้า ต้นทุนของธุรกิจ และความเสี่ยงด้านกฎหมาย จึงต้องมีโมเดลระดับภูมิภาคมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยากลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceutical) ในสามด้านหลัก คือ การวางแนวปฏิบัติที่ดี เพิ่มขีดความสามารถ และการติดตามผล

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการลงนามข้อตกลงระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และดำเนินตามมาตรการริเริ่มของเอเปค จึงมีศักยภาพในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าในภูมิภาค โดยเป็นโมเดลตัวอย่างที่อาจนำไปสู่การหากรอบฉันทามติสำหรับการทำงานร่วมกันด้านธรรมาภิบาลในประเทศ เพื่อผลักดันสู่ระดับสากลต่อไป

เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระบบยา

ในพ.ศ. 2558 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเรื่องการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระบบยาเป็นครั้งแรกของประเทศไทยโดย 24 องค์กรในระบบสาธารณสุข ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการอำนวยศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เครือข่ายกลุ่มสถาบันการศึกษาพยาบาลแห่งประเทศไทย กรมแพทย์ทหารบก กรมแพทย์ทหารเรือ กรมแพทย์ทหารอากาศ สำนักงานแพทย์ใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สมาคมโรงพยาบาลเอกชน องค์การเภสัชกรรม สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาไปสู่การปฏิบัติจริง ด้วยการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระบบยาร่วมกัน