ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เอไอเอสประกาศราชชื่อหน่วยบริการสุขภาพที่ได้รางวัลจากโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 3 มี รพ.ที่ได้รับรางวัลรวมทั้งหมด 123 รางวัล ปลื้มมีผลงานเข้าชิงรางวัลระดับประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่า อสม.กว่า 80% มีปริมาณการใช้งานอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนไปทางสูง แถมมีรูปแบบการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ตั้งเป้าพัฒนาแอปฯ ในลักษณะที่ช่วยประมวลผลให้มากขึ้นในอนาคต

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า หลังจากที่เปิดให้หน่วยบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิและชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สมัครเข้าร่วมโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 3 โดยสิ้นสุดระยะเวลาส่งผลงานไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ขณะนี้คณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาและประกาศรายชื่อหน่วยบริการและชมรม อสม. ที่ได้รับรางวัลแล้ว โดยมีรางวัลทั้งหมด 123 รางวัล แบ่งเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศ 10 รางวัล รางวัลดีเด่นระดับจังหวัด 82 รางวัล และรางวัลดาวรุ่ง ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษสำหรับหน่วยบริการสุขภาพ และชมรม อสม.ที่สมัครเข้าร่วมประกวดเป็นครั้งแรกและมีผลงานเชิงปริมาณและคุณภาพอยู่ในระดับที่ดีอีก 31 รางวัล

สำหรับรายชื่อหน่วยบริการสุขภาพที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศ ประกอบด้วย

1. รพ.สต.กุดบง จ.หนองคาย

2. รพ.สต.ขนาย จ.นครราชสีมา

3. รพ.สต.ชุมช้าง จ.หนองคาย

4. รพ.สต.บางทอง จ.พังงา

5. รพ.สต.บ้านคลองบอน จ.จันทบุรี

6. รพ.สต.บ้านคลองม่วง จ.กระบี่

7. รพ.สต.บ้านชัยชนะ จ.สกลนคร

8. รพ.สต.บ้านทองหลาง จ.พังงา

9. รพ.สต.บ้านโปร่งพรหม จ.กาญจนบุรี

10. รพ.สต.บ้านหนองเกาะ จ.บุรีรัมย์

ทั้งนี้ หน่วยบริการที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับจังหวัดและรางวัลดาวรุ่ง สามารถตรวจสอบรายชื่อที่ผ่านการคัดเลือกได้ที่ Facebook อสม.ออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยทางเอไอเอสจะจัดพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค. 2563 ซึ่งหน่วยบริการที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศ จะได้รับเงินรางวัล ๆ ละ 100,000 บาท รางวัลดีเด่นระดับจังหวัด รางวัลละ 40,000 บาท และรางวัลดาวรุ่ง รางวัลละ 10,000 บาท

นายวีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า โดยภาพรวมแล้วการใช้งานแอปฯในปีนี้ดีขึ้นอย่างมาก เห็นได้ชัดว่า อสม.และหน่วยบริการสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่มีการใช้แอปฯเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ มีจำนวนหน่วยบริการและชมรม อสม.ที่ส่งผลงานเข้าประกวดเพิ่มขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีผลงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่จะเข้าชิงรางวัลระดับประเทศมีจำนวนถึง 61 แห่งซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว

ขณะเดียวกัน ทักษะและปริมาณการใช้งานของ อสม.ก็มีมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ถึง 80% มีปริมาณการใช้งานอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนไปทางสูง คะแนนของผู้เข้าประกวดแต่ละแห่งก็ใกล้เคียงกัน นับเป็นปีที่มีการแข่งขันและขับเคี่ยวกันอย่างมาก

"ตอนนี้ถึงขั้นว่า อสม. สอนกันเองแล้ว ไม่ใช่เราผลักดันฝ่ายเดียว การที่ อสม.เขาเริ่มสอนกันเอง ผมคิดว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีมาก ๆ กรรมการแต่ละท่านคุยกันว่าเราไม่ห่วงเรื่องว่าจะสตาร์ทติดหรือไม่ติดแล้ว คราวนี้คือทำอย่างไรถึงจะแพร่กระจายการใช้งานให้เพิ่มขึ้นมากกว่า" นายวีรวัฒน์ กล่าว

นายวีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า รูปแบบการนำแอปฯ อสม.ออนไลน์ ไปประยุกต์กับงานในปีนี้ก็มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ขาดนัดรับยาให้กลับมารับยาต่อเนื่อง การเฝ้าระวังป้องกันโรคที่อาจเกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 มีการแจ้งสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่และให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวแก่ อสม.เพื่อนำไปถ่ายทอดแก่ประชาชน การติดตามผู้ที่กลับมาจากการประกอบพิธีฮัจญ์ ประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) และอื่น ๆ อีกมากมาย

"อย่างผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มนี้จะมีปัญหาเพราะต้องทานยาเรื่อย ๆ แต่พออยู่ในพื้นที่ห่างไกล บางทีเขาก็ไม่ได้ไปรับยา อสม.ก็จะช่วยดูและเตือนว่าถึงเวลาต้องไปรับยาแล้ว ทำผู้ป่วยได้รับยาต่อเนื่องและมีสุขภาพที่ดี หรือเรื่องฝุ่น PM2.5 ตรงนี้เห็นได้ชัดว่าข้อมูลแบบนี้กระจายถึงประชาชนยาก แต่การใช้แอปฯอสม.ออนไลน์ ให้ความรู้หรือแจ้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงส่งไปยัง อสม.ทราบแล้วเอาไปถ่ายทอดให้ประชาชนได้อย่างทันการณ์ และในภาพรวมก็มีการใช้ประโยชน์จากฟังชั่นต่าง ๆ ที่เราใส่ไปได้ครบหมด กลายเป็นว่าไปแก้ pain point ให้ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างมาก อย่างเวลาจะนัดเจอกันยุ่งยากมาก ต้องใช้การโทรเป็นรายๆ แต่ใช้แอปฯนี้ส่งไปเลย ลดต้นทุน ลดเวลาอย่างมาก หรือหลาย ๆ พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยอย่างจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ปฏิบัติงานออกไปหาผู้ป่วย 4-5 กม. ก็อาจมีอันตราย ก็ใช้วิธีติดต่อออนไลน์ผ่านมือถือเลย รวมทั้งฟังชั่นสำรวจลูกน้ำยุงลายที่ส่งข้อมูลเร็วและข้อมูลก็ทันเหตุการณ์ มีพิกัดให้พร้อม ก็สามารถนำไปสู่การประมวลผลได้ง่ายขึ้น" นายวีรวัฒน์ กล่าว

นายวีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ทิศทางการพัฒนาแอปฯ อสม.ออนไลน์ในอนาคต เอไอเอสจะพัฒนาไปในลักษณะที่ช่วยในการประมวลผล แต่ก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาว่าอะไรเป็น pain point และผู้ปฏิบัติงานต้องการเก็บข้อมูลอะไรบ้าง แบบเดียวกับฟังชั่นการสำรวจลูกน้ำยุงลายที่เป็นตัวอย่างหนึ่งในการพัฒนาแอปฯในลักษณะนี้