ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยสมาคม ผนึก 15 องค์กร ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม APACT 2020 หรือการจัดประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเซียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (Asia Pacific Conference on Tobacco or Health : APACT) สร้างสังคมปลอดบุหรี่

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเตรียมการและเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเซียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (Asia Pacific Conference on Tobacco or Health : APACT) โดยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์กรพันธมิตร 15 องค์กร ซึ่งเป็นการประชุมเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างยั่งยืนและสุขภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การจัดประชุม APACT 2020 ในระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน 2563 ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทย โดยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ร่วมกับ 15 องค์กรพันธมิตร อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แพทยสมาคม ฯลฯ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน จาก 40 ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมปลอดบุหรี่จากนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการประชุมมีการนำเสนอข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการควบคุมยาสูบและสุขภาพต่าง ๆ และการจัดนิทรรศการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรับมือผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ การผนึกเครือข่ายเพื่อสังคมปลอดบุหรี่ในระดับสากล การเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมกำหนดสังคมแห่งสุขภาวะ

“การเตรียมความพร้อมการจัดประชุม แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ จึงได้จัดจัดทำบันทึกข้อตกลงในการการจัดประชุมร่วมกับ 15 หน่วยงานพันธมิตร เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังสาธารณชนว่า แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ จะร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรอย่างเข้มข้น ในการเดินหน้าส่งเสริมการขับเคลื่อนเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่เพื่อยกระดับชุมชนไปสู่สังคมเพื่อสุขภาพที่ดีต่อไป” ศ.นพ.รณชัย กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่ามีประชากรที่ยังสูบบุหรี่อยู่ถึง 10.7 ล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งในระดับครัวเรือน และระดับรัฐ รวมกันถึงปีละ 1 แสนล้านบาท แม้สถานการณ์ภาพรวมจะเริ่มดีขึ้น แต่พบปัญหาการส่งเสริมการขาย การใช้ช่องทางการตลาดเพื่อกระตุ้นให้เกิดนักสูบหน้าใหม่อยู่ตลอดเวลา อาทิ การขายบนช่องทางออนไลน์ การออกผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้า และการบิดเบือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งที่ปัจจุบันมีการรายงานผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่จากหลายประเทศ และบางประเทศได้เริ่มมีมาตรการห้ามจำหน่ายแล้ว

“ปัญหาผลกระทบจากยาสูบไม่อยู่แค่ในประเทศ แต่เป็นปัญหาข้ามพรมแดน ในการประชุม APACT 2020 นี้ สสส. พร้อมสนับสนุนทั้งข้อมูลวิชาการในการผลักดันนโยบาย และภาคีเครือข่ายที่มีประสบการณ์การทำงานรณรงค์สังคมปลอดบุหรี่ทั้งในประเทศและนานาชาติ เพื่อมาแลกเปลี่ยน สังเคราะห์องค์ความรู้ หามาตรการควบคุมและป้องร่วมกับนานาชาติให้สังคมปลอดบุหรี่” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

ทั้งนี้ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ 15 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรุงเทพมหานคร, แพทยสภา, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่, ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.), เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่, เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ, มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (SEATCA), Global Center for Good Governance in Tobacco Control (GGTC), บริษัท เซ็นทรัลกรุ๊ป จำกัด, สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)