ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพเห็นว่าต้องกำกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อสร้างธรรมาภิบาลและการันตีการเข้าถึงระบบสุขภาพที่เท่าเทียมกันในผู้ป่วย

ประเด็นดังกล่าวถูกยกขึ้นมาพูดคุยในเวทีเสวนา “บทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (The role of private sector in accelerating progress toward UHC) ในวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ งานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2563 โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอทเซนทรัลเวิลด์

เดวิด คลาร์ก (David Clarke) หัวหน้ากลุ่มงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและกฎหมายด้านระบบสุขภาพ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กล่าวในระหว่างเวทีเสวนาว่า การศึกษาขององค์การอนามัยโลกใน 65 ประเทศ พบว่าการบริการสุขภาพของภาคเอกชนมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 การบริการสุขภาพทั้งหมด

ดังนั้น การดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาระบบสุขภาพจึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อหลายประเทศทั่วโลกมีความพยายามสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรด้านการแพทย์จากหลายภาคส่วน

“หากเราไม่ดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาระบบ เราจะเสียโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพการรักษาและเพิ่มการเข้าถึงระบบสุขภาพที่เท่าเทียมกัน” คลาร์ก กล่าว “เราต้องสร้างธรรมาภิบาลในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ทำให้ภาคเอกชนสามารถเข้าร่วมพัฒนาระบบสุขภาพได้”

ระบบธรรมาภิบาลดังกล่าวต้องสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการจากภาครัฐและเอกชน โดยทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการการสร้างหลักประกันสุขภาพร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม คลาร์ก กล่าวว่าการดึงภาคเอกชนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังคงเป็นความท้าทายในหลายประเทศ เพราะภาคเอกชนต่างคนต่างอยู่ รัฐบาลยังพบความยากลำบากในการกำกับหรือขอความร่วมมือจากภาคเอกชน

ในกรณีของญี่ปุ่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้รูปแบบ “ร่วมจ่าย” ระหว่างรัฐบาลและประชาชน โรงพยาบาลเอกชนเป็นกำลังสำคัญในการให้บริการผู้ป่วยภายใต้ระบบ การกำกับดูแลภาคเอกชนของญี่ปุ่นจึงถูกออกแบบมาให้มีความเข้มงวด

ชินอิชิโร โนดะ (Shinichiro Noda)

ชินอิชิโร โนดะ (Shinichiro Noda) จากสำนักความร่วมมือด้านสุขภาพระหว่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น (Bureau of International Health Cooperation) กล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลภาคเอกชนในหลายแง่มุม

ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายห้ามบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการแพทย์ ใช้กำไรของตนลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และไม่อนุญาติให้นายทุนของบริษัทเหล่านี้รับเงินปันผลของบริษัท เพื่อที่บริการด้านสุขภาพจะไม่ถูกทำให้กลายเป็น “สินค้า”

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสถานบริการด้านสุขภาพและราคา เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและราคาเป็นธรรม

ในด้านฟิลิปปินส์ โรงพยาบาลเอกชนมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 65 ของโรงพยาบาลทั้งหมด ระบบประกันสุขภาพของฟิลิปปินส์ หรือ PhiHealth จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชน แต่กฎหมายที่ใช้กำกับภาคเอกชนยังคงหละหลวม

แมรี่ เจน เพซ (Mary Jane Paez) จากกระทรวงสาธารณสุขแห่งฟิลิปปินส์ กล่าวว่า แม้พบข้อดีในการพึ่งพาภาคเอกชน แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้นทุนในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมีต้นทุนสูงขึ้น และรัฐบาลเองก็มีต้นทุนในการทำระบบกำกับภาคเอกชนเช่นกัน

วราภรณ์ สุวรรณเวลา

วราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทยดึงภาคเอกชนร่วมงานผ่านโครงสร้างบอร์ด สปสช. ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยภายใต้ระบบ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก

สำหรับเหตุผลที่ทำให้อัตราการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนต่ำมีหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือค่ารักษาพยาบาลของภาคเอกชนมีราคาสูง รัฐบาลไทยไม่สามารถใช้งบประมาณจ่ายได้ สะท้อนว่ารัฐบาลไทยยังไม่สามารถกำกับค่ารักษาพยาบาลของภาคเอกชนได้เต็มที่นัก

ในอีกด้าน สถานการณ์ในแอฟริกาใต้มีความแตกต่างจากกรณีที่กล่าวมาข้างต้น โดยรัฐบาลยังคงอยู่ในระยะตั้งไข่โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะที่ระบบสุขภาพต้องพึ่งพาภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งมีราคาแพง เข้าถึงได้เฉพาะคนมีเงิน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของแอฟริกาใต้จึงอยู่ในระดับสูงมาก

มาร์ค เบลเชอร์ (Mark Blecher) ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพและการพัฒนาสังคม กระทรวงการคลังแห่งแอฟริกาใต้ กล่าวว่ารัฐบาลของตนยังไม่สามารถควบคุมและกำกับภาคเอกชนได้ดีนัก โรงพยาบาลเอกชนจ้างงานบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญมากถึงร้อยละ 69 ของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด แต่กลับให้การรักษาคนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะคนรวย มีเพียงร้อยละ 17 ของผู้มีประกันสุขภาพที่เข้ารับการรักษาในภาคเอกชน

ขณะที่ร้อยละ 42 ของผู้มีประกันสุขภาพ ใช้ประกันสุขภาพของภาคเอกชน โดยคนจนไม่สามารถซื้อประกันจากภาคเอกชนเพราะไม่มีกำลังจ่าย

“ราคาคือตัวบ่งบอกการเข้าถึงระบบสุขภาพ และมันไม่ง่ายเลยที่จะแก้ปมในจุดนี้” เบลเชอร์ กล่าว

“เราต้องหายุทธศาสตร์ที่จัดการกับค่ารักษาพยาบาลราคาสูงในภาคเอกชน รวมทั้งปฏิรูประบบการเงินการคลัง เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะริเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต” เบลเชอร์ กล่าว