ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดรายละเอียด รพ.ราชวิถี ทดลองรักษา ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ผู้ป่วยจีนวัย 70 ปี ส่งต่อมาจากหัวหินรักษามาแล้ว 10 วันเชื้อยังเป็นบวกทั้งอาการหนักมาก มีภาวะปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และมีค่าการอักเสบในเลือดเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ หมอจึงตัดสินใจให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีผสมยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาการดีขึ้นใน 48 ชม.

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 นพ.เกรียงศักดิ์ อติพรวณิช อายุรแพทย์โรคปอด นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.ราชวิถี กล่าวถึงขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยชาวจีนหายภายใน 48 ชั่วโมง ว่า โรคนี้เป็นโรคใหม่ เราจึงศึกษาข้อมูล ซึ่งมีรายงานประเทศจีนใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในการรักษาโรค ซึ่งยาต้านไวรัสเอชไอวีในประเทศไทยนั้นทางองค์การเภสัชกรรมผลิตได้เองอยู่แล้ว ประกอบกับก่อนหน้านี้มีรายงานว่าใช้ในการรักษาโรคเมอร์ส ด้วย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา รพ.ราชวิถีได้รับการส่งตัวผู้ป่วยชาวจีนอายุ 70 ปี มีโรคประจำตัว จาก รพ.แห่งหนึ่งที่หัวหิน เพราะมีอาการหนักมากถึงขนาดที่อาจจะต้องตัดสินใจใส่ท่อช่วยหายใจ มีภาวะปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และมีค่าการอักเสบในเลือดเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ พอมาถึง รพ.ราชวิถี จึงได้ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นสูตรผสม ร่วมกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่

“ผมตัดสินใจว่าในเมือคนไข้อาการหนัก ต้องรักษาคนไข้ไว้ก่อน จึงตัดสินใจให้ยาทั้ง 2 ตัว แล้วคอยรักษาผลข้างเคียงและคอยดูคนไข้ทุกวัน โดยให้ยาตั้งแต่วันแรกที่รับเข้ารักษาที่ รพ.ราชวิถีคือเมื่อวันที่ 29 มกราคม ซึ่งจริง ๆ ต้องให้เครดิต รพ.ที่รักษาก่อนหน้านี้ด้วย เพราะเขาได้ให้ยาต้านไวรัสกับคนไข้คนนี้ก่อนหน้านี้แล้ว 2 วันแต่อาการคนไข้ไม่ได้ดีขึ้น แย่ลงเรื่อย ๆ”

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ยานั้น จะใช้ในขนาดที่สูงเพราะเป็นคนไข้ที่มีอาการหนัก โดยสัดส่วนยาต้านไวรัสเอชไอวีที่เป็นยาสูตรผสมโลพินาเวียร์และลิโทนาเวียร์ ที่อยู่ในเม็ดเดียวกันขนาด 200/50 มิลลิกรัม โดยให้ครั้งละ 2 เม็ด เช้า-เย็น และร่วมกับการให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โอเซลทามิเวียร์ 75 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด เช้า-เย็น รวม 300 มิลลิกรัม โดยผลการให้ยาปรากฏว่าไม่ถึง 12 ชั่วโมง จากคนไข้ที่ดูอ่อนเพลีย ลุกไม่ได้ กลับมาลุกนั่งได้และไข้ลดลง หลังจากนั้นอาการเหนื่อยน้อยลง และหลังเก็บเชื้อตรวจ 48 ชั่วโมง ปรากฏว่าไม่ผลเป็นลบ ทั้ง ๆ ที่รักษาตัวมาเป็น 10 วันเชื้อยังเป็นบวกอยู่ อย่างไรก็ตามวันนี้แม้อาการป่วยยังไม่หาย แต่ดีขึ้นชัดเจน ดังนั้นแนวโน้มการรักษาด้วยสูตรยานี้ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น แต่ยังต้องรอการศึกษาที่จะบอกว่าการรักษาวิธีนี้เป็นมาตรฐานการรักษา

ผู้สื่อข่าวถามว่าสูตรของ รพ.ราชวิถีต่างจากของจีนอย่างไร นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ในจีนที่แนะนำการรักษาก่อนหน้านี้ คือใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างเดียว ไม่ได้ให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โอเซลทามิเวียร์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางจีนหรือประเทศอื่น ๆ มีการรักษาด้วยวิธีการนี้หรือไม่ อาจจะมีก็ได้แต่ยังไม่ได้มีการรายงานออกมา ส่วนของไทยตอนนี้ก็มีการให้ยาสูตรของ รพ.ราชวิถีอีก 1 ราย ซึ่งเป็นคนไทย อายุ 33 ปี มีอาการปอดอัดเสบเช่นกัน แต่ติดเชื้อและมีอาการที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้มีประวัติสัมผัสคนจีน โดยหลังจากได้รับยาตามสูตรนี้แล้ว อาการดีขึ้นมาก แต่ยังอยู่ระหว่างการรอผลตรวจแล็บก่อน

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานในการรักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ เพราะฉะนั้น เมื่อมีใครรายงานว่ารักษาได้ผล ก็จะต้องติดตาม และศึกษาทุกวัน ซึ่งแพทย์ทุกคนของกรมการแพทย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ศึกษาและเปิดดูว่ามีรายงานเรื่องการรักษาใหม่ ๆ ขึ้นมากทุกวันหรือไม่ ถ้ามีก็เอามารักษาคนไทยอยู่แล้ว แต่สูตรยาร่วมที่ รพ.ราชวิถีใช้ยังไม่เคยมีใครรายงาน ซึ่งอาจจะมีคนใช้แต่ยังไม่มีคนรายงาน

ขณะที่ รศ.นพ.สืบสาย คงแสงดาว นายแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.ราชวิถี หนึ่งในทีมรักษา กล่าวว่า วิธีการรักษาในประเทศต่าง ๆ นั้น ทางการจีนและประเทศอื่นมีการรายงานออกมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อว่าความร่วมมือของแพทย์ทั่วโลกจะทำการพัฒนาการรักษาร่วมกัน โดยไทยจะเป็นประเทศหนึ่งร่วมช่วยกัน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรายงานกรณีศึกษาการรักษาผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยใช้รักษาวิธีนี้ 3 ราย แต่ 1 รายแพ้ยาโอเซลทามิเวียร์จึงหยุดการให้ยาที่แพ้ ส่วนอีก 2 ราย เมื่อได้รับสูตรยานี้ก็อาการดีขึ้น โดยหลักแนวทางคำแนะนำในการรักษามาตรฐาน คงจะยึดจากรายงานทั่วโลก โดยเฉพาะของจีนที่ออกมา แต่แพทย์ รพ.ราชวิถีได้เพิ่มการให้ยาโอเซลทามิเวียร์ด้วย และในวันที่ 3 ก.พ. จะมีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย จะมีการนำวิธีการรักษาเช่นนี้เข้าหารือและพิจารณาร่วมกัน ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อในไทย โดยหากมีอาการไม่หนัก ให้ใช้วิธีการรักษาตามปกติ คือการรักษาตามอาการ ซึ่งที่ผ่านมาแพทย์ไทยก็รักษาหาย แต่หากเป็นคนไข้ที่อาการหนัก จะมีแนวทางการใช้สูตรยาตามของ รพ.ราชวิถีเป็นทางเลือกการรักษา และมีการเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ และจะมีการแบ่งปันข้อมูลร่วมกับนานาประเทศด้วย