ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีเรือสำราญ บรรทุกผู้โดยสารกว่า 2 พันคน ขอเข้ามาเทียบท่าเรือแหลมฉบัง เรื่องนี้เรามีการพิจารณาแล้วเราไม่อนุญาตให้เข้ามาจอดเทียบท่าที่ท่าเรือในประเทศไทย แต่จะให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม หากเขามีการทอดสมอในทะเลสากลและร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา เช่น หากต้องการอาหาร ยารักษาโรค น้ำมัน ของจำเป็นต่าง ๆ เราสามารถช่วยเหลือได้ หรือถ้ามีคนป่วยหนักเราก็ยินดีให้การรักษาภายใต้ระบบควบคุมโรคระบาด อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กองทัพเรือหารือร่วมกับกรมควบคุมโรค การท่าเรือ ในการพิจารณาการช่วยเหลือ

นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 11 ก.พ. ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้โทรศัพท์มาถึงตน เพื่อยันยันว่าทุกคนบนเรือสบายดี ไม่มีไข้ ขอให้ไทยรับดูแล แต่ตนยังไม่เชื่อเพราะตัว ผอ.องค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้อยู่บนเรือลำนั้น แล้วตนเชื่อว่าบนเรือไม่มีอุปกรณ์ตรวจยืนยันโรคไวรัสโคโรนา 19 วันนี้ต้องยอมรับว่าเราไม่มีข้อมูลบนเรือมากเพียงพอ จะเอาข้อมูลแค่นี้มาตัดสินใจไม่ได้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และบุคลากรเราเองก็มีจำกัด แล้วก่อนจะมาถึงไทย ผ่าน 3-4 ประเทศทำไมถึงปฏิเสธ ทั้งนี้ที่ เห็นว่ามีการหันหัวเรือมายังท่าเรือแหลมฉบัง อาจจะเป็นเพียงการประสานเข้ามาในตั้งแต่แรก แต่จากการตรวจสอบล่าสุดไปยังการท่าเรือยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้เข้ามาจอดเทียบท่าในประเทศไทย

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีคนไทยบนเรือลำนั้น 19 คน จากข้อมูลทราบว่าเป็นลูกจ้างบนเรือมีสัญญาจ้างคอยดูแลอยู่แล้ว และอันที่จริง บนเรือยังมีคนสัญชาติอเมริกัน 700 กว่าคน อาจจะไปในพื้นที่ที่ประเทศที่อเมริกามีประชาธิปไตย อย่างเช่น เกาะกวม เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยเดิมที ไม่ใช่เป้าหมายของเขา แต่ประเทศไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม ไม่ให้เข้า จึงจะมาขอเข้าประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ทำไมไทยจะต้องมาแบกรับความกดดันตรงนี้ แต่อย่างไรก็ตามหากจุดใดที่เราสามารถให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมได้เราก็ไม่ลังเลที่จะทำ แต่ต้องดูว่าเราจะให้การดูแลได้มากน้อยแค่ไหน