ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เตรียมเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย 24 ก.พ.นี้ ขณะที่การรักษาล่าสุดใช้ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ (Favilavir) รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รักษาผู้ป่วยไทย 2 ราย

วันที่ 20 ก.พ.2563 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 18 ราย กลับบ้านแล้ว 17 ราย รวมสะสม 35 ราย โดยผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. – 19 ก.พ. 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,052 ราย คัดกรองจากสนามบิน 58 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 994 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 861 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 191 ราย โดยผู้ป่วย 2 รายที่ยังอยู่สถาบันบำราศนราดูร อาการยังทรงตัว

“ขณะนี้ในต่างประเทศมีการรักษาโดยใช้ยา อย่างยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ (Favilavir) ซึ่งคนไข้ทั้ง 2 รายได้รับยาดังกล่าว และยังได้ใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด” นพ.รุ่งเรือง กล่าวและว่า นอกจากนี้ ขอย้ำว่า สธ.ไม่มีนโยบายกักกันผู้โดยสาร และกีดกันการเดินทางแต่อย่างใด

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เช้าวันนี้ (20 ก.พ.) มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้กล่าวยืนยันว่า เราไม่มีการปิดบัง หรือบิดเบือนตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทย ขอให้ประขาชนมั่นใจในมาตรการ ป้องกันและควบคุมโรคที่ดี เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เริ่มคัดกรองทุกสนามบิน แจกบัตรคำแนะนำสุขภาพให้นักท่องเที่ยว มัคคุเทศน์ และสถานบริการต่าง ๆ และที่สำคัญเรามีบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครที่ความสามารถ ทุ่มเท เสียสละ ขอเชื่อมั่น ให้กำลังใจและให้ความร่วมมือ

“ที่ประชุมมีนโยบายบูรณาการ อาทิ เรื่องของการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในพื้นที่ ในส่วนของประเทศไทยจะต้องป้องกันตรงนี้ให้นานที่สุด โดยเฉพาะคำแนะนำในการป้องกันตนเองของประชาชน ทั้งการล้างมือบ่อย ๆ การสวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าสำหรับคนไม่ป่วย เพื่อให้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ของบุคลากร หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดจะได้มีเพียงพอ ที่สำคัญเราไม่มีปกปิดข้อมูลแน่นอน” นพ.โสภณ กล่าว

กระบวนการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายนั้น ในส่วนของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการแล้ว และกำลังจะร่างประกาศเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ในวันจันทร์ที่ 24 ก.พ.2563 ซึ่งคาดว่าจะลงมติเห็นชอบในวันนั้นให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย