ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของฮ่องกง ได้ผ่าน “ข้อเสนอ” รับ “ฝึกหัด” แพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ 69 สาขา ในโรงเรียนแพทย์ 9 แห่ง จากทั้งหมด 15 แห่ง

ขณะเดียวกัน ในอีก 6 โรงเรียนแพทย์ที่เหลือ ก็ไม่ได้ “ปิดประตู” เสียทีเดียว รายงานข่าวระบุว่ายังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจา และมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะเข้าร่วมโครงการฝึกหัดแพทย์เฉพาะทาง เพื่อดึงดูดหมอต่างชาติให้เข้ามาทำงานในฮ่องกงมากขึ้น

ศาสตราจารย์ เหลา แชก-ซิง ประธานวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮ่องกง ให้สัมภาษณ์กับ South China Morning Post ว่า สิ่งที่ฮ่องกงต้องการคือการดึงดูดแพทย์อายุน้อยที่มีความสามารถเข้ามาฝึกเฉพาะทางในฮ่องกง เพื่อให้คุ้นเคยกับระบบสุขภาพ เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บประจำถิ่นของที่นี่ และหากคุ้นเคยกับฮ่องกง รวมถึงต้องการทำงานต่อ ก็สามารถต่อสัญญาได้

ปัจจุบัน โรงพยาบาลรัฐบนเกาะฮ่องกง ขาดแคลนแพทย์ประมาณ 350 คน ซึ่งทำให้ในช่วงฤดู “ไข้หวัด” ระบาดช่วงหน้าหนาว ระหว่างเดือน ม.ค. - มี.ค. โรงพยาบาลทั่วฮ่องกง ไม่สามารถรับคนไข้ได้เพียงพอ

เมื่อต้นปี 2562 แคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประกาศในนโยบายว่ารัฐบาลฮ่องกงจะเพิ่มจำนวนหมอต่างชาติ ให้เข้ามาทำงาน และฝึกหัดในสาขาเฉพาะทางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดให้หมอต่างชาติเข้ามา จะไม่กระทบกับหมอในฮ่องกงที่มีอยู่เดิม

สำหรับผู้ที่เรียนคณะแพทยศาสตร์ในฮ่องกง จะต้องเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 6 ปี และต้องเป็นแพทย์อินเทิร์นอีก 1 ปี ก่อนจะได้เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือหมอ GP โดยหากเรียนแพทย์เฉพาะทาง จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 ปี

ส่วนหมอที่ “นำเข้า” มา จะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ในสถาบันที่กำหนดไว้เท่านั้น ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ และโรงเรียนแพทย์ 2 แห่ง ที่ University of Hong Kong และ Chinese University โดยจะต้องลงทะเบียน และผ่านการรับรองจากแพทยสภาฮ่องกงเท่านั้น

ภายใต้นโยบายดังกล่าว แพทย์ต่างชาติสามารถทำงานในฮ่องกงได้ โดยไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ รวมถึงสามารถ “เซ็นสัญญา” ทำงานในฮ่องกงได้นานสูงสุดถึง 3 ปี โดยสถิติเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มีหมอจากต่างประเทศที่อยู่ภายใต้โครงการนี้รวม 163 คน

ทั้งนี้ หากหมอในโครงการดังกล่าว ต้องการที่จะทำงานในฮ่องกงอย่างอิสระกว่านี้ นั่นคือสามารถไปทำงานในโรงพยาบาล – คลินิก ใดก็ได้ จะต้องสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ และต้องฝึกงานอย่างน้อย 12 เดือนในฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อเสนอใหม่จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮ่องกง แพทย์ต่างชาติที่ลงทะเบียนใต้โครงการนี้ และผ่านการสอบเฉพาะทางในขั้นต้นแล้ว สามารถเรียนต่อเฉพาะทางต่อได้ ในสถาบันแพทย์เฉพาะทางอย่างน้อย 9 แห่ง ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม จากที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ ให้ต้องสอบ “ข้อสอบ” อีกตัว ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เรียนต่อเฉพาะทางในฮ่องกง

ยกตัวอย่างเช่น หากแพทย์คนใด เคยฝึกหัดเฉพาะทางในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน จากประเทศต้นทางมาแล้ว คณะแพทยศาสตร์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยฮ่องกง - เซินเจิ้น จะ “รับโอน” ชั่วโมง-ประสบการณ์ ที่เคยฝึกหัดให้ทันที เพื่อการันตีว่าแพทย์คนดังกล่าว จะไม่ต้องฝึกแบบเดิมในแผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน ซ้ำอีกรอบ

ประธานวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮ่องกง บอกว่าสิ่งที่ต้องย้ำเสมอก็คือ แพทย์จากต่างประเทศที่เข้ามา จะต้องมีมาตรฐาน และผ่านมาตรฐานเดียวกับแพทย์ที่ฝึกหัดในฮ่องกง ขณะเดียวกัน หมอฮ่องกงที่ต้องการเรียนต่อเฉพาะทาง จะได้รับสิทธิ์ให้เข้าไปเรียนต่อก่อนหมอที่มาจากต่างประเทศ

จนถึงขณะนี้ ข้อเสนอดังกล่าว ยังต้องรอการสรุป ภายหลังจากที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮ่องกง นำรายละเอียดไปหารือกับสำนักอาหารและสาธารณสุขประจำฮ่องกง

ทว่า อีกด้านหนึ่ง อริสนา หม่า ชุง-ยี ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลรัฐบาลฮ่องกง ระบุว่า แม้แพทย์ฮ่องกงจะมีสิทธิ์เข้าเรียนและฝึกเฉพาะทางก่อนแพทย์จากต่างชาติก็จริง แต่วิทยาลัยแพทย์ต่าง ๆ จะการันตีได้หรือไม่ว่าอุปกรณ์ เครื่องมือ และการฝึกเฉพาะทางแบบพิเศษ เช่น การรักษาโรคหายากนั้น แพทย์ฮ่องกง จะได้รับมากกว่าแพทย์จากต่างชาติ และจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าแพทย์ฮ่องกงที่เรียนเฉพาะทางนั้น จะได้รับโอกาสในการฝึกหัดเหล่านี้มากกว่า เพราะต้องไม่ลืมว่า อย่างไรเสีย แพทย์ฮ่องกงนั้นเรียนด้วย “ทุน” ที่มาจากภาษีประชาชน

หม่า ยังกังวลด้วยว่า รัฐบาลอาจให้ความสำคัญกับการ “นำเข้า” หมอจนเกินไป ทั้งที่หมอในฮ่องกงจำนวนมากทำงานหนัก ต่อเนื่องยาวนาน และได้รับค่าตอบแทนไม่สมน้ำสมเนื้อ

ขณะเดียวกัน การประกาศนำเข้าหมอ ในขณะที่ฮ่องกงมีปัญหา “ค่าครองชีพ” สูง และปัญหาการเมืองภายในที่ยืดเยื้อยาวนาน บริษัทต่างชาติหลายแห่งปิดตัว ย้ายออกจากฮ่องกง จะเป็นเรื่อง “ผิดฝาผิดตัว” หรือไม่ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันของฮ่องกง ไม่ได้น่าดึงดูดหมอต่างชาติเลย

อย่างไรก็ตาม โฆษกกลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้ป่วย ทิม แพงฮัง-เฉิง กลับสนับสนุนนโยบายนี้ พร้อมกับบอกว่า ไม่ว่าวิธีใดก็ตามที่จะสามารถเพิ่มจำนวนหมอในเกาะฮ่องกงได้ก็ควรทำทั้งสิ้น และเชื่อว่าคุณภาพหมอต่างชาติที่เข้ามา จะไม่น้อยไปกว่าหมอฮ่องกงที่มีอยู่เดิม

แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค จาก

Hong Kong Academy of Medicine proposes training scheme for young overseas doctors to address manpower crunch in city’s public hospitals [www.scmp.com]