ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เผยโรงพยาบาลเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดแคลน “หน้ากากอนามัย” จี้รัฐแก้ปัญหา-กำกับการใช้ภาคประชาชน วางแนวทางจัดสรรหน่วยงานสาธารณสุขให้เพียงพอ

ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ช่วงเวลานี้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยที่ไม่สามารถสั่งซื้อได้เนื่องจากโรงงานผลิตไม่ทัน สาเหตุทั้งจากวัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีน ประกอบกับความต้องการของภาคประชาชนที่สูงมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหามาตรการสนับสนุนให้โรงพยาบาลมีหน้ากากอนามัยใช้ได้อย่างเพียงพอ

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป ในเรื่องของการใช้หน้ากากอนามัยที่เหมาะสม ว่าจะสามารถใช้หน้ากากผ้าแทนได้หรือไม่ หรือกรณีใดจึงจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์จริง ไม่เช่นนั้นหน้ากากอนามัยที่ผลิตขึ้นมาจำนวนมากก็อาจถูกใช้ไปอย่างไม่เหมาะสม ทั้งยั้งส่งผลให้ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง

“เราเข้าใจถึงสถานการณ์ความต้องการ ดีมานด์ ซัพพลาย ในภาคธุรกิจอยู่แล้ว เมื่อประชาชนต้องการเยอะราคาก็สูงขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลภาครัฐจัดซื้อด้วยข้อจำกัดส่วนหนึ่ง เมื่อเขาขายให้ภาคประชาชนได้ราคาดีกว่าที่ขายให้ภาครัฐอยู่แล้ว ส่วนนี้เองก็อาจทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นกับการดูแลรักษาคนไข้ส่วนอื่น ๆ” นพ.สมศักดิ์ ระบุ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตัวอย่างของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ปกติมีการใช้หน้ากากอนามัยเดือนละ 1 แสนชิ้น และมีการสำรองล่วงหน้าไว้ 3 เดือน แต่เมื่อเกิดปัญหาไวรัส COVID-19 ก็ส่งผลให้การใช้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพียง 20 วันมีการใช้ไปแล้วเกือบ 2 แสนชิ้น จึงเริ่มเกิดการขาดแคลนขึ้น และเมื่อจะสั่งซื้อทางตัวแทนจำหน่ายก็ไม่สามารถจัดหาให้ได้ เพราะทุกที่มีความต้องการเช่นเดียวกัน

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทางโรงพยาบาลจึงต้องหามาตรการ โดยวางแนวทางการใช้หน้ากากอนามัยอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในส่วนของบุคลากรที่ไม่ได้ดูแลผู้ป่วยโดยตรง ให้ใช้หน้ากากชนิดผ้าที่สามารถนำไปซักเพื่อกลับมาใช้ซ้ำได้ ส่วนบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรง ค่อยเป็นการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ภาคประชาชนด้วย

“รัฐบาลต้องมีแนวทางจัดการให้ชัดเจน เมื่อเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น โรงงานจะต้องจัดสรรมาให้หน่วยงานสาธารณสุขใช้อย่างเพียงพอ หาสมดุลกับการใช้ในภาคประชาชน แต่ขณะนี้กลับมีกระแสแจกหน้ากากให้ประชาชน และบอกว่าบุคลากรทางการแพทย์ป้องกันตัวเองได้ จึงเป็นกระแสต่อต้านขึ้น เราเป็นนักรบแต่ไม่มีอาวุธออกไปสู้ แล้วจะสู้ได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งชุดป้องกันซึ่งขณะนี้ก็จัดซื้อได้ไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ คือการงดจัดกิจกรรมที่คนจะรวมตัวกันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬา การประชุมทางวิชาการ หรือเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลต้องวางแนวทาง มีการตัดสินใจที่ชัดเจนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้อย่างสะดวกมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรค ยังจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ลงได้ด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้นสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือเดินทางมาเพื่อ transit เพราะในขณะที่คนไทยซึ่งเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต้องถูกกักกันเป็นเวลา 14 วัน แต่กลุ่มชาวต่างชาตินี้กลับยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน แม้จะมีโอกาสนำเชื้อโรคมาแพร่ได้ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนให้เหมือนกับคนไทยที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง