ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

(1)

22 ม.ค. วันเดียวกับที่จีนประกาศปิดอู่ฮั่นเป็นวันแรกนั้น สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 อยู่ที่ 11 คน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร และจะสามารถ “คอนโทรล” ได้

เพราะอเมริกา ไม่เพียงเป็นประเทศโลกที่ 1 ที่ขึ้นชื่อว่ามั่งคั่งที่สุดเท่านั้น แต่อเมริกา ยังมีหน่วยงานควบคุมโรคระบาด ที่ขึ้นชื่อว่าเก่งที่สุดในโลกอย่าง Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC ซึ่งอยู่ที่แอตแลนต้า ที่น่าจะจัดการกับโคโรนาไวรัสตัวนี้ได้สบายๆ

แล้วอะไรที่ทำให้รัฐบาลทรัมป์ และ CDC ผิดพลาดมหันต์ จนทำให้สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ป่วยสูงที่สุดในโลก และอาจมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึงหลักหมื่นคนในไม่ช้า?

ย้อนกลับไปเดือน ม.ค. หลังจากองค์การอนามัยโลก “แชร์” วิธีการตรวจโคโรนาไวรัส ให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก หน่วยงาน CDC สามารถผลิตชุดตรวจเองได้ แล้วก็แชร์รายละเอียดสู่สาธารณะในวันที่ 24 ม.ค. หรือ 3 วันหลังจากที่พบผู้ป่วยรายแรกในรัฐวอชิงตัน

ในเวลานั้น หน่วยงานหลายแห่ง เช่น สำนักงานอาหารและยา หรือ FDA เริ่มเตือนไปที่ทรัมป์แล้วว่า มีความเป็นไปได้สูงที่โรคนี้ จะระบาดเป็นวงกว้าง และรัฐบาล ควร “ตรวจคัดกรอง” ให้ได้มากที่สุด โดยให้เอกชน ร่วมกันผลิตชุดตรวจ แจกจ่ายเป็นวงกว้าง

หนึ่งในนั้นคือ ลูเซียนา โบริโอ อดีตหัวหน้าหน่วยงานด้านปฏิบัติการป้องกันด้านชีวภาพ (Biodefense) ประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งให้สัมภาษณ์สำนักข่าว NPR ขอให้รัฐบาล ร่วมมือกับภาคเอกชน ผลิต “ชุดตรวจ” และ “น้ำยาตรวจ” ให้มากที่สุด เพื่อจะได้จำกัดวงของการระบาด ตรวจหาผู้ติดเชื้อ และแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนทั่วไป ซึ่งจะเป็นทางเดียวที่จะจัดการได้ หากไวรัสระบาดเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลทำ กลับตรงกันข้ามกับข้อเสนอทุกอย่าง CDC ออกกฎ “จำกัดวง” ให้มีการตรวจเชื้ออย่างแคบที่สุด อนุญาตให้เฉพาะ ผู้ที่มีประวัติการเดินทางจากอู่ฮั่น และผู้สัมผัสใกล้ชิดเท่านั้น ที่เข้าถึงชุดตรวจได้ และไม่ได้มีการผลิตชุดตรวจเพิ่มตามข้อเสนอตอนแรก

ถึงวันที่ 31 ม.ค. สหรัฐฯ ประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ด้านสาธารณสุข โดยข้อกำหนดใหญ่ก็คือเฉพาะชุดตรวจที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ที่จะสามารถเทสต์ได้ โดยชุดตรวจ จะถูกส่งไปยังห้องแล็บประจำมลรัฐเพื่อประมวลผลต่อไป นั่นทำให้แล็บอื่นๆ ที่ในสถานการณ์ปกติ จะสามารถตรวจเชื้อได้เช่นกัน ไม่สามารถทำได้ ได้รับอนุญาตเฉพาะแล็บประจำรัฐเท่านั้น

อเล็กซ์ อาซาร์ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า เพื่อความแม่นยำของผล จึงไม่สามารถกระจายให้แล็บอื่น เป็นผู้ประมวลผลได้...

(2)

ต้นเดือน ก.พ. ทรัมป์ออกมาชื่นชมความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสามารถจัดการกับโรคนี้ได้อยู่มือ จนทั่วอเมริกา มีผู้ติดเชื้อแค่เพียง 11 คนเท่านั้น

แต่สิ่งที่อยู่ข้างหลังนั้น น่ากลัวกว่า จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบทั่วอเมริกา มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกระบวนการตรวจเริ่มเป็น ”คอขวด” เพราะเกณฑ์ตรวจอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่มาจากจีนเท่านั้น ไม่มีใครรู้ว่าไวรัส ถูกฝังอยู่ในสหรัฐฯ แล้ว ส่วนจะเข้าไปตรวจเอง ค่าตรวจในอเมริกา ก็แพงมหาศาล

วันที่ 16 ก.พ. เพิ่งมีคนที่ได้รับการตรวจไปราว 800 คนทั่วประเทศเท่านั้น ในเวลาเดียวกับที่เกาหลีใต้ ตรวจโควิด – 19 ไปมากกว่า 8,000 คน หรือมากกว่า 10 เท่า

ปัญหาใหญ่ก็คือ CDC หน่วยงานที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดด้านโรคระบาด ไม่มีอำนาจอนุมัติให้แล็บใดก็ได้เป็นผู้ตรวจประเมินผล แต่ต้องให้ FDA เป็นผู้อนุมัติ แล้ว FDA ก็ไม่กล้าอนุมัติ เพราะเกรงว่าแล็บจะไม่มีคุณภาพ ทำให้ผลตรวจไม่น่าเชื่อถือ กลายเป็นปัญหาติดขัดในระบบราชการของอเมริกา

มิหนำซ้ำ นิวยอร์คไทมส์ ยังรายงานว่า ในช่วงนั้น รมว.สาธารณสุข ไม่สามารถรายงานปัญหานี้โดยตรงกับทรัมป์ได้ ทำได้เพียงสื่อสารกับ “หัวหน้าคณะทำงาน” อย่าง มิค มัลเวย์นีย์ เท่านั้น

กว่ารัฐบาลจะให้มีการตรวจเชื้อในแล็บก็ล่วงเข้าสู่ปลายเดือน ก.พ. วันเดียวกับที่ผู้อำนวยการ CDC ออกมายอมรับว่า โรคนี้จะระบาดแน่นอนในสหรัฐฯ

แต่สิ่งที่สวนทางก็คือท่าทีของประธานาธิบดี ที่ออกมาพูดว่าโรคนี้จะสามารถจัดการได้ และเมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงที่อากาศอบอุ่นขึ้น โควิด – 19 จะหายไปเอง

ทั้งที่ช่วงเวลานั้น เริ่มมีผู้ป่วยหลักพัน ในอิตาลี และในอิหร่านแล้ว...

(3)

พอเดือน มี.ค. สหรัฐฯ เริ่มรู้ตัว ก็เริ่มปรับทิศทาง FDA ผ่อนคลายให้แล็บ สามารถตรวจเชื้อได้มากขึ้น ยอดตรวจเพิ่มเป็น 3,099 เทสต์ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 516 คน ซึ่งทำให้เห็นว่ายอดภูเขาน้ำแข็ง ยังมีผู้ติดเชื้อกองอยู่อีกมาก

แต่ถามว่าเป็นจำนวนที่ “น่าพอใจ” หรือไม่ ต้องตอบว่ายังมีปัญหา เพราะเกาหลีใต้ ประเทศที่วิกฤตที่สุดในห้วงเวลานั้น สามารถตรวจได้ถึง 1.8 แสนเทสต์ หรือ 3,682 เทสต์ ต่อประชากรล้านคน แต่อเมริกา สามารถตรวจได้เพียง 9.5 เทสต์ ต่อประชากรล้านคนเท่านั้น

แม้กระทั่งช่วงสิ้นเดือน มี.ค. ที่ FDA ผ่อนปรนเกณฑ์ตรวจแล้ว อเมริกา ก็ตรวจได้เพียง 2,250 เทสต์ ต่อประชากรล้านคน หรือ 2 ใน 3 จากที่เกาหลีสามารถตรวจสอบได้

สิ้นเดือน มี.ค. อเมริกา มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2,198 ทั้งที่การตรวจ ยังไม่สามารถทำได้ดีนัก ซึ่งหมายความว่า จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้อีกมาก เนื่องจากการตรวจ ไม่สามารถตามไปได้ทัน

เจอเรมี คอนินไดค์ นักวิชาการอาวุโสประจำ CDC บอกว่า นโยบายที่ผิดพลาด ทำให้อเมริกา “ตาบอด” มองไม่เห็นการระบาดในประเทศ ไปมากกว่า 6-7 สัปดาห์

และเมื่อถึงเวลาต้อง “ไล่ตาม” จริง ก็ไล่ไม่ทันแล้ว..

(4)

วอชิงตันโพสต์ วิเคราะห์ว่า ปัญหาใหญ่ก็คือทรัมป์ ไว้ใจระบบ “รัฐราชการ” มากเกินไป และปล่อยให้รัฐ จัดการกันเองจนสุดท้ายก็ “เละ” ไปหมด

ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย “ตรวจน้อย เจอน้อย” กำหนดเป้าหมายการตรวจให้แคบที่สุด การปล่อยให้ระบบราชการแยกส่วน ให้ CDC เป็นผู้ดีไซน์วิธีเทสต์ด้วยตัวเอง ส่วน FDA เป็นผู้เลือกวิธีตรวจแบบดั้งเดิม จนสุดท้ายก็ไม่ทันสถานการณ์

ขณะเดียวกัน รมว.สาธารณสุข ก็มีปัญหาทั้งในการกำกับดูแลนโยบายเหล่านี้ มีปัญหาในการสื่อสารกับตัวประธานาธิบดี ส่วนตัวประธานาธิบดีเอง ก็มั่นใจกับระบบของตัวเอง ซึ่งขึ้นชื่อว่าสามารถควบคุมโรคติดต่อ อันดับต้นๆ ของโลก ว่าจะสามารถปิดกั้นไวรัส ไม่ให้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาได้

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเหตุและปัจจัย ที่ทำให้อเมริกา กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก และจำนวนผู้เสียชีวิตจะทบขึ้นไปเรื่อยๆ

เป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ และนโยบาย ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย

แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค

อ้างอิงจากข่าว

1.11 to 100,000: What went wrong with coronavirus testing in the U.S. (www.washingtonpost.com)

2.In U.S. and Germany, Community Transmission Is Now Suspected (www.nytimes.com)