สปสช.จับมือไปรษณีย์ไทย จัดระบบ “ส่งยาทางไปรษณีย์” ดูแลผู้ป่วยช่วงวิกฤต COVID-19 หลัง รพ.หลายแห่งเสนอเพิ่มช่องทางช่วยผู้ป่วยไม่ต้องมา รพ. ลดความเสี่ยงรับเชื้อ ใช้งบ “กองทุนบัตรทอง” หนุนค่าบริการจัดส่ง
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งไม่อยากให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รักษาต่อเนื่องเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรค COVID-19 ขอให้ สปสช.จัดระบบการส่งยาให้กับผู้ป่วยในช่วงระหว่างนี้ โดย สปสช.ได้หารือร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อร่วมกันจัดวางระบบรองรับที่ต้องทำการเชื่อมระบบต่อระหว่างโรงพยาบาล บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และ สปสช. เพื่อให้การจัดส่งยาถึงมือผู้ป่วยและถูกต้อง ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น มีการจัดบริการส่งยาทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลอยู่แล้ว ซึ่ง สปสช.จะนำมาเป็นแนวทางเพื่อประกอบการดำเนินการ
ทั้งนี้ในส่วนของค่าใช้จ่ายจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยนั้น จะใช้งบประมาณสนับสนุนจาก “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” จากการหารือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะคิดราคาจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยทุกรายในอัตราเหมาจ่าย 50 บาทต่อครั้ง ราคานี้รวมค่ากล่องพัสดุเพื่อบรรจุยาจัดส่ง นับเป็นความร่วมมือเพื่อช่วยกันดูแลประชาชน เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาของการให้บริการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วย 3 เดือนก่อน ถึงเดือนมิถุนายน 2563
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากข้อมูล บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีประสบการณ์การจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยอยู่แล้ว ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันบริการจัดส่งยาให้กับโรงพยาบาล 20 แห่ง โรงพยาบาล 1 แห่งเฉลี่ยจัดส่งพัสดุยาจำนวน 1,000-1,500 ชิ้น/เดือน ทำการจัดส่งพัสดุยาให้กับผู้ป่วยในทุกพื้นที่ภายใน 3 วัน และในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในเขตเมืองยังดำเนินการจัดส่งได้ทุกวัน ไม่เว้นวันเสาร์และอาทิตย์ ทั้งยังมีระบบการตอบรับพัสดุ ทำให้ผู้ป่วยได้รับยารวดเร็วและถูกต้องได้
“ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการเร่งจัดทำแนวทางดำเนินการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยตามที่โรงพยาบาลต่างๆ ได้ประสานเข้ามาแล้ว รวมถึงงบประมาณดำเนินการ จำนวนการจัดส่งยา เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรับยาเอง ซึ่งภายหลังจากที่ได้จัดทำแนวทางดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ซึ่งได้อนุมัติแล้ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า บริการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์นี้เป็นระบบบริการเฉพาะกิจให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบบของเชื้อไวรัส COVID-19 เท่านั้น เพื่อเพิ่มทางเลือกในการดูแลผู้ป่วย นอกจากโครงการรับยาใกล้บ้านที่ สปสช.ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
- 182 views