ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันห้องแล็บสามารถยืนยันผลตรวจโควิด-19 ได้ภายใน 3 ชั่วโมงหลังได้รับสิ่งส่งตรวจ ย้ำหน่วยบริการเก็บตัวอย่างเสร็จแล้วให้รีบส่งห้องปฏิบัติการโดยเร็ว พร้อมกำชับห้องแล็บรายงานผลทุกวันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 13 เม.ย. 2563 โดยระบุว่า การตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 ใช้วิธี Real-Time RT-PCR โดยปัจจุบันมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการที่ตรวจยืนยันเชื้อได้มากกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ตัวเลขการตรวจสะสมตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึง 8 เม.ย. 2563 มีจำนวน 87,007 ตัวอย่าง

นพ.บัลลังก์ เน้นย้ำว่า ต้องขอความร่วมมือห้องปฏิบัติการทุกแห่งรายงานจำนวนการตรวจทั้งหมดมายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกวัน เพราะปัจจุบันข้อมูลที่ได้ค่อนข้างล่าช้า บางห้องปฏิบัติการรวบรวมไว้ 3-4 วัน หรือ 1 สัปดาห์แล้วค่อยส่งครั้งหนึ่ง ทำให้แปลผลได้ลำบากว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ เป้าหมายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 คือต้องมีการรายงานผลตรวจภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งความเป็นไปได้ในเรื่องนี้นั้น นพ.บัลลังก์ยืนยันว่าหลังจากได้รับตัวอย่างมาแล้ว ห้องปฏิบัติการสามารถออกผลได้ภายใน 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าตัวอย่างจะมาถึงห้องปฏิบัติการเมื่อใด ดังนั้นขอเน้นย้ำว่าเมื่อเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจแล้วอย่าล่าช้า ให้ส่งมาที่ห้องปฏิบัติการทันที ทุกห้องปฏิบัติการสามารถออกผลได้ภายใน 3 ชั่วโมงแล้วจะแจ้งผลตรวจเข้าระบบได้เลย

นพ.บัลลังก์ เน้นย้ำว่า ประเด็นที่อยากสื่อสารถึงห้องปฏิบัติการทุกแห่งคือการตรวจวินิจฉัยโดยวิธี Real-Time RT-PCR เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส โดยมีเป้าหมายในการหา N-gene และ CRF-1b gene ถ้าทั้ง 2 ชนิดมีผลเป็นบวกถึงจะยืนยันผลการติดเชื้อได้ แต่ถ้าเป็นผลบวกแค่ยีนเดียวยังไม่สามารถยืนยันผลได้ ต้องทำซ้ำ หรือหาชุด Kits ชุดที่ 3 มาตรวจซ้ำตัวอย่างเดิม ถ้าชุดตรวจชุดที่ 3 มีผลเป็นบวกถึงจะยืนยันการติดเชื้อได้

"การรายงานผลเข้าระบบจะรายงาน 3 อย่าง 1.Positive 2.Nagative และ 3.Inconclusive คือมีผลบวกแค่ยีนใดยีนหนึ่ง ในกรณีนี้มีแนวปฏิบัติเพียง 4 วิธี คือ ต้องทำซ้ำ หา Kits ชุดที่ 3 มาตรวจซ้ำ ส่งมาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำการตรวจสอบ หรือเก็บตัวอย่างใหม่มาตรวจ" นพ.บัลลังก์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.บัลลังก์ ยังย้ำด้วยว่าห้องปฏิบัติการจะต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ของตัวอย่างก่อนทดสอบ ถ้าตัวอย่างไม่สมบูรณ์ก็สามารถปฏิเสธและให้เก็บตัวอย่างมาให้ใหม่ได้