ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปคม. ร่วมกับ กทม. สสส. และภาคีเครือข่าย สร้างต้นแบบ "ค้นหาผู้ป่วย COVID-19 เชิงรุกในชุมชน" ด้วยกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต

วันที่ 15 เมษายน 2563 ที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) เป็นเครื่องมือสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาความซับซ้อนของระบบในการสู้ภัยวิกฤตโควิด-19 ด้วยกลไกนี้จะมาช่วยเติมเต็มการทำงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพิ่มความยั่งยืนของระบบ ประชาชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาและเป็นเจ้าของโครงการ เป็นผู้นำในการจัดการปัญหาด้วยตนเอง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ยังคงความรุนแรงและมีแนวโน้มขยายตัวลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ปรากฎจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุด อันเป็นผลมาจากการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นศูนย์รวมของประชากรที่มาใช้ชีวิตท่ามกลางความเจริญเติบโตทางสังคมร่วมกันกว่า 5.7 ล้านคน นโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีนโยบายค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน เพื่อให้มีความครอบคลุม ค้นหาผู้ติดโควิด-19

นายแพทย์สำเริง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานครั้งนี้เกิดขึ้นจากนายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตบางเขน ในฐานะประธานคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) ที่เห็นความสำคัญ โดยนำกลไก พชข. มาจัดการเพื่อกวาดล้างโควิด-19 ให้หมดไปจากประเทศไทย นับว่าเป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ เพื่อประชาชนได้รับการตรวจที่ครอบคลุมและปลอดภัยจากโควิด-19

ซึ่งสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง จัดทำรูปแบบโมเดล ร่วมกับ กทม. นำร่องที่สำนักงานเขตบางเขน และสำนักงานเขตคลองเตย โดยความร่วมมือจาก กทม. (นำร่องที่สำนักงานเขตบางเขน จำนวน 71 ชุมชน และคลองเตย จำนวน 41 ชุมชน) ภาคเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมกันรณรงค์ Kick off ในวันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นวันแรก กิจกรรมประกอบด้วยการให้บริการชุมชน เก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ช่วงเช้าจำนวน 100 ราย ช่วงบ่าย 100 ราย รวมเป็น 200 รายต่อวัน

ส่วนภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาสังคม ที่ร่วมมือสนับสนุนครั้งนี้ ได้แก่ สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โรงพยาบาลเปาโล เกษตร ตลาดยิ่งเจริญ คลิกนิก เทเลเมดิซีน บริษัท MP Group (THAILAND) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานีตำรวจนครบาลบางเขน เป็นต้น

ด้าน พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า แต่เดิม สสส.ได้สนับสนุนให้ สปคม. และภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการชุมชนเขตเมือง ในประเด็นการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยใช้ระบบที่สอดคล้องกับบริบทเขตเมือง ที่มุ่งใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 จึงต้องปรับแผนการทำงานใหม่ โดยมุ่งเสริมประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองผู้ป่วยให้ได้จำนวนต่อวันมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์การตรวจเชิงรุก และการให้ความรู้ในมิติการดูแลกันเองภายในชุมชน หากใครเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ กังวลว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยง สามารถเข้ามารับการตรวจคัดกรองได้ ซึ่งการตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเท่านั้นที่จะเข้ารับการตรวจได้ แต่สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงและยังไม่มีอาการ สามารถเข้ารับการตรวจฟรีได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้ค้นพบผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการจำกัดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนได้ทันท่วงที