ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อส่งข้อเสนอถึงรัฐให้ผ่อนล็อกดาวน์ หลังตัวเลขพบอาจมีคนตกงาน 7 ล้านคน เริ่มจากจังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อ 2 อาทิตย์ต้นเดือน พ.ค. ก่อนขยายต่อ ของดจัด “อีเวนท์” เด็ดขาด ลุ้นเปิดห้างโดย “เว้นระยะห่าง” ให้คนอยู่ห้างไม่เกิน 1 ชม. และงดจัดนาทีทอง พร้อมมีเจลล้างมือ - ตรวจไข้

วันที่ 19 เม.ย. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และระบาดวิทยา ได้แก่ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์, นพ.ยง ภู่วรวรรณ, นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์, นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์, นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ และอดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์, นพ.ไพจิตร์ วราชิต, นพ.โสภณ เมฆธน, นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข, นพ.ธวัช สุนทราจารย์, นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ และ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รวมกันจัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาล ในหัวข้อการเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” เข้าสู่มาตรการ “สร้างเสถียรภาพ

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว ระบุว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ในไทย มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” ที่ไทยใช้มาตลอดมีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการนี้โดยครอบคลุมทุกจังหวัด มีต้นทุนสูงทางเศรษฐกิจและสังคม ควรดำเนินการเพียงชั่วคราวในระยะเวลาจำกัด หากเนิ่นนานโดยไม่จำเป็น จะกระทบรุนแรงต่อประชากรที่มีรายได้น้อย มีหนี้สินครัวเรือนสูง ทำให้เกิดการตกงาน 5-7 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของครอบครัว ชุมชน และสังคม และรัฐบาลต้องใช้งบประมาณสูงมากในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ กลุ่มแพทย์ดังกล่าว ยังได้เสนอฉากทัศน์ที่ “เป็นไปได้” คือการควบคุมให้มีการแพร่เชื้อในระดับต่ำ สูญเสียชีวิตน้อย ให้โรงพยาบาลรองรับได้ทัน และให้กลับสู่วิถีชีวิตปกติด้วยวิถีแบบใหม่ (New Normal)

โดยข้อเสนอได้แก่

1.เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ ด้วยการขยายการตรวจให้ครอบคลุมทุกจังหวัด วินิจฉัยอย่างรวดเร็ว แยกรักษา เฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยเพิ่มในบางกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการระบาด เช่น กลุ่มที่อยู่อย่างแออัด เรือนจำ บ้านพักคนชรา ชุมชนแรงงานข้ามชาติ ก่อนจะติดตามผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว มีสถานที่รองรับการแยกกัก และหอพักผู้ป่วยที่เพียงพอ

2.ให้ทุกสังคม ทุกพื้นที่ ล้างมือสม่ำเสมอ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน มีระยะห่างทางกาย งดชุมนุม งดจัดอีเวนท์ขนาดใหญ่ และให้เปลี่ยนเป็นงานขนาดเล็กในหมู่ญาติสนิท-ครอบครัวเท่านั้น

3.ให้ธุรกิจเดินหน้า โดยให้องค์กร ธุรกิจ อุตสาหกรรม ปรับรูปแบบตัวเองให้มีความเสี่ยงต่ำ มีการวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย ลดการใช้เสียง

งดกิจกรรมที่ต้องรวมผู้คนและส่งเสียง เช่น การจัดรายการนาทีทอง จำกัดระยะเวลาที่ผู้คนมาใช้สถานที่ต่างๆ ให้สั้นลง เช่น ไม่เกิน 1 ชม. เพิ่มการระบายอากาศ ลดจำนวนผู้มาติดต่อ ใช้เทคโนโลยีสำหรับทำงาน ประชุม ติดต่อบริการ และลดการพบปะจำนวนมาก

4.ปิดแหล่งแพร่โรคสำคัญ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนันในรูปแบบต่างๆ ต้องปิดระยะยาว ส่วนการปิดกิจการอื่นๆ ในอนาคต ให้ปิดแบบจำเพาะ แทนการปิดแบบครอบจักรวาล

และ 5.มีระบบเฝ้าตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ เพื่อจัดระดับสถานการณ์ เตือน และเพิ่มมาตรการ หรือผ่อนคลายมาตรการ ตามบริบทของจังหวัด หรืออาจลงย่อยไปถึงอำเภอ

โดยมาตรการดังกล่าว อาจเริ่มจากจังหวัดกลุ่มแรกที่ไม่พบผู้ป่วยใน 2 สัปดาห์ (ประมาณ 32 จังหวัด) เริ่มได้ต้นเดือน พ.ค. แล้วเริ่มในกลุ่มที่ 2 คือจังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อประปราย (ประมาณ 38 จังหวัด) กลางเดือน พ.ค. ส่วนจังหวัดกลุ่มที่มีการระบาดต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อน (7 จังหวัด) หากสามารถลดการระบาดลงมาได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ก็ควรเปลี่ยนผ่านได้ต้นเดือน มิ.ย.

สำหรับข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก ในการผ่อนคลายล็อกดาวน์ มี 6 ข้อ ได้แก่ 1.สามารถควบคุมการระบาดได้ 2.ตรวจผู้มีอาการ หาเชื้อ แยกตัว รักษา 3.ควบคุมสถานที่เสี่ยง 4.จัดมาตรการป้องกันโรคในที่สาธารณะ - ออฟฟิศ 5.จัดระบบติดตามผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ และ 6.สร้างระบบการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชน

ส่วนมาตรการในต่างประเทศ ที่มีการคลาย “ล็อกดาวน์” แล้ว อาทิเช่น เดนมาร์ค มีการเปิดโรงเรียน และเนอร์สเซอรี สำหรับเด็กเล็ก, สเปน กิจการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง สามารถเริ่มงานต่อได้แล้ว, ออสเตรีย เริ่มเปิดร้านค้าขนาดเล็กจำนวนมาก และตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป จะอนุญาตให้เล่นกีฬาเอาท์ดอร์ เช่น เทนนิส กอล์ฟ หรือกรีฑา, อิตาลี เริ่มเปิดร้านหนังสือ และร้านเสื้อผ้าเด็กแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และประเทศล่าสุดคือเยอรมัน เตรียมประกาศเปิดร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงโรงเรียน ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ กำหนดเคร่งครัดเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม และการใส่หน้ากากเมื่อออกนอก ขณะที่ ร้านอาหาร, คาเฟ่, โรงหนัง, ผับ และการจัดอีเวนท์ขนาดใหญ่ ในยุโรป ยังคงปิดต่อไป โดยแต่ละประเทศระบุว่า อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน จึงจะสามารถพิจารณามาตรการเกี่ยวกับสถานที่เหล่านี้อีกที