ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ร่วมกับ ม.มหิดล เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ลงพื้นที่ท่าน้ำนนท์ ตรวจคัดกรอง COVID-19 ให้แก่ประชาชน-คนไร้บ้าน พร้อมแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกัน เตรียมความพร้อมก่อนการผ่อนคลายมาตรการ

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 เครือข่ายสลัม 4 ภาค​ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ให้กับประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้านบริเวณพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรี เขตเทศบาลนครนนทบุรี

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการตรวจคัดกรองวัดไข้ในเบื้องต้นให้กับประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่กว่า 200 คน โดยเจ้าหน้าที่คลินิกชุมชนอบอุ่น ร่วมกับบุคลากรคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ที่สนับสนุนการเก็บตัวอย่างจากกลุ่มบุคคลเสี่ยงเพื่อส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งมีการแจกจ่ายอุปกรณ์หน้ากากอนามัย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ รวมถึงอาหารและน้ำดื่ม โดยมีกลุ่มจิตอาสาและเครือข่ายมูลนิธิฯ ร่วมดูแล

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า บริเวณท่าน้ำนนทบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นชุมชนใหญ่ที่มีประชาชนกลุ่มคนไร้บ้านอาศัยอยู่ ซึ่งมีโอกาสเข้าถึงหรือเข้าใจในด้านการป้องกันโรคน้อย จึงเป็นความสำคัญของการลงพื้นที่ทำ Active case finding หรือการตรวจโควิด-19 โดยวิธีเชิงรุก เพื่อให้เมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้วจะสามารถควบคุมได้ ซึ่งการตรวจคัดกรอง ซึ่งสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ตรวจหาโควิด-19 ฟรีทุกรายทุกสิทธิรักษาตามที่แพทย์เห็นถึงความจำเป็น

“เรามีเป้าหมายในพื้นที่คลัสเตอร์หลายจังหวัดซึ่งเป็นเขตชุมชนใหญ่ๆ ซึ่งหากเราคัดกรองชุมชนเหล่านี้ได้จนครบ เมื่อถึงเวลาที่มาตรการเริ่มผ่อนคลายจะได้มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องใช้ความพยายามในการเฝ้าระวัง รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ยังมีอยู่” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันที่รัฐบาลกำลังมองถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ผลจากการตรวจคัดกรองกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่ รวมไปถึงกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่จะเริ่มให้บริการในอนาคต เช่น ร้านอาหาร ร้านตัดผม จะสามารถนำไปเป็นข้อมูลเพื่อใช้ประกอบในการวางแผนได้

“ตอนนี้เองจะเห็นว่าแม้ยอดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อจะลดลง แต่ยังคงกระจุกอยู่ในจังหวัดหลักที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่ ซึ่งขณะนี้ สปสช.พยายามที่จะโฟกัสไปยังคลัสเตอร์บางส่วนเพื่อตรวจคัดกรองป้องกันการแพร่เชื้อ โดยมีมหิดลเป็นแล็บสนับสนุนเชิงวิชาการในกระบวนการตรวจยืนยัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาจะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนต่อไป” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าว

ด้าน น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า จากการที่เคยลงพื้นที่เพื่อแจกจ่ายสิ่งของจำเป็นให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน ทำให้พบว่าหลายคนมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยส่วนใหญ่เป็นโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือวัณโรคอยู่ด้วย แต่เมื่อยังขาดระบบการส่งต่อที่ไม่รู้ว่าเมื่อเจอผู้ป่วยแล้วจะทำอย่างไร จึงทำให้คนกลุ่มนี้ยังต้องนอนอยู่ที่เดิมได้ ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้

“คนไร้บ้านมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นทั้งการแพร่เชื้อและติดเชื้อ จึงได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ลงมาร่วมคัดกรองคนในพื้นที่และส่งต่อสู่การรักษา ซึ่งสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกับเรื่องของอาชีพ ถ้าเขาได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา ก็จะทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นมาสู้กับภาวะเศรษฐกิจได้ และกลุ่มคนไร้บ้านเองเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว เขาอาจไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถ้าไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย จึงเป็นที่มาในการประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายร่วมกัน” น.ส.วรรณา กล่าว