ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีคำถามจากประชาชนว่า หากทำงานร่วมกันในห้องแอร์จำนวนมาก แต่สวมหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด-19 ถือว่าเพียงพอหรือไม่ ว่า หากต้องเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ การคัดกรองและทำความเข้าใจ ให้คนที่มีอาการไข้ หรือไอ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าอาการจะน้อยแค่ไหน ครั่นเนื้อครั่นตัว วัดไข้ไม่ขึ้น ให้ถือว่าเป็นไข้ ให้เขาพักอยู่บ้าน อย่าให้เขามาทำงาน โดยจะทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัท หรือองค์กร ออกกฎสำคัญข้อหนึ่งคือ การลาจากอาการคล้ายโควิด ให้สามารถลาได้ โดยไม่นับเป็นวันลา ไม่เช่นนั้นคนที่อาการน้อยๆ ก็จะฝืนมาทำงาน เพราะหวงวันลา เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

“ดังนั้น ขอให้ประกาศเป็นมาตรการองค์กรให้ลาป่วยจากอาการคล้ายโควิดได้ หรือ ใครมีอาการไข้ ไอ ให้พักอยู่กับบ้าน และทางหน่วยงานจะไม่นับวันลา ไม่เช่นนั้นโอกาสแพร่ระบาดของโรคในที่ทำงานจะสูงมาก และกรณีสถานที่ทำงานที่มีคนเป็นร้อยคน ควรทำโครงสร้างพื้นฐานให้มีคนบางส่วนทำงานจากบ้านได้จะดีมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน เพราะได้ประโยชน์ระยะยาว หรือเหลื่อมเวลาการทำงานให้กับพนักงาน เริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงเที่ยง หรือการนับเวลาแบบคล่องตัว เช่นวันนี้ทำงาน 10 ชั่วโมง อีกวันทำงานลดเวลาลง เพื่อให้คนทำงานในออฟฟิสน้อยที่สุด เพราะตรงนี้หากมีคนไข้หลุดไปสักคน ไอในห้องประชุม อาจมีการแพร่กระจายโรค มาตรการจึงต้องรัดกุม” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

คำถามจากประชาชน ถามว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งทำงานในห้องแอร์ และมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ คนมีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงติดง่ายหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับโรคมะเร็งไทรอยด์ หากขบวนการรักษาจบสิ้นแล้วไม่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ส่วนโอกาสติดเชื้อของผู้ป่วยมีโรคประจำตัวนั้น โอกาสติดเชื้อไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่หากติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป ส่วนคนที่ไม่มีอาการ ความสามารถในการแพร่เชื้อจะต่ำกว่าคนมีอาการ เพราะโดยทั่วไปการแพร่เชื้อมาจากการไอ จาม การพูดคุยกันนานๆเสียงดัง น้ำลายจะกระเด็นออกมา ดังนั้น หากทุกคนใส่หน้ากากผ้าเหมือนกันหมด โอกาสแพร่เชื้อคนไม่มีอาการก็ต่ำลง

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และผู้สูงอายุ โดยไทยมีวัคซีนฟรีให้ประมาณ 4 ล้านโดส แต่เรามีกลุ่มเสี่ยงมากกว่านั้น ดังนั้น ใครมาก่อนฉีดก่อน ไม่มีการจอง จึงขอให้รีบไปฉีดกัน ซึ่งหากวัคซีนหมดก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย ขอย้ำว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นสำหรับกลุ่มเสี่ยง

กรณีโรคไข้เลือดออกที่มีการระบาดมีผลต่อการวินิจฉัยโควิดยากขึ้นหรือไม่ รองอธิบดีคร. กล่าวว่า ก็มีผลบ้าง แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อย่างในเด็ก หากเป็นโควิดอาการจะมีไข้แค่ 40% แต่ไข้เลือดออกอาการจะชัดไข้สูงลอย อาหารหลักของโควิด คือระบบทางเดินหายใจ ประมาณ 50% มีอาการไอ ของผู้ใหญ่ 80% มีอาการไอ แต่วันก่อนมีข่าวจากสิงคโปร์อาจทำให้การวินิจฉัยไข้เลือดออกซับซ้อนได้ อย่างในกลุ่มคนไข้โควิด แต่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ เมื่อไปตรวจอาจเป็นผลบวกปลอม