ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติเยอรมัน แถลงสถานการณ์ล่าสุดของโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่2019 ในประเทศเมื่อวันที่ 28 เม.ย. พบว่าอัตราการแพร่เชื้อของโรค ต่อผู้ป่วย 1 คน หรือค่า R0 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อต่อได้ 0.9 คน หรือค่า R0 = 0.9 ขึ้นไปอยู่ที่ผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อต่อได้ 1 คน ซึ่งหมายความว่า ณ ขณะนี้ ค่า R0 = 1

ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นหลายรัฐในเยอรมัน ได้เริ่มผ่อนคลายกฎล็อกดาวน์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา หลัง อังเกลา เมอร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ได้ข้อสรุปร่วมกับผู้ว่าการรัฐทั้ง 16 รัฐ เห็นตรงกันว่าเยอรมัน ถึงเวลาที่จะเริ่มผ่อนปรนกฎล็อกดาวน์ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน มี.ค. ช่วงที่การติดเชื้อโควิด – 19 สูงสุด ค่า R0 ในเยอรมันนั้นอยู่ที่ 3 ก่อนจะลดลงเหลือ 1.3 เมื่อลด “ความชัน” กราฟสำเร็จ ในวันที่ 8 เม.ย. และลดลงเหลือ 0.9 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะขยับขึ้นไปที่ 1 ใหม่ ในสัปดาห์นี้

โลธาร์ วีเลอร์ ประธานสถาบัน Robert Koch สถาบันวิจัยด้านสุขภาพแห่งชาติเยอรมัน ระบุว่าค่า R0 ควรจะต่ำกว่า 1 ก่อนที่เยอรมัน จะเดินหน้าด้วยการเปิดสถานที่ต่างๆ ต่อไป

“ยิ่งค่า R0 ต่ำเท่าไหร่ เราจะยิ่งสามารถก้าวต่อไปได้มากขึ้น” ประธานสถาบัน Robert Koch ระบุ

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าค่า R0 ไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการพิจารณาการ “ผ่อนปรน” มาตรการล็อกดาวน์ แต่ยังต้องมองไปถึงจำนวนเตียงในห้อง ICU และจำนวนเทสต์ในแต่ละวัน ขณะเดียวกัน ค่า R0 นั้น เป็นค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ซึ่ง ณ ขณะนี้ ในหลายรัฐ ถือว่าทำได้ดี คืออยู่ในระดับต่ำกว่า 1 แต่ในหลายรัฐนั้น มีระดับเพิ่มขึ้น

อัตราผู้ติดเชื้อล่าสุดในเยอรมัน อยู่ที่ 158,758 ราย โดยมีผู้เสียชีวิต 6,126 คน อย่างไรก็ตาม มีเคสที่ยัง Active หรือยังอยู่ในระหว่างการรักษาราว 3.8 หมื่นคน เท่านั้น นอกจากนี้ เยอรมัน ยังเป็นประเทศที่มีจำนวนการตรวจเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย โดยสามารถตรวจเชื้อได้ถึง 2 ล้านเทสต์ สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 988 ราย

สำหรับกฎในการผ่อนปรนล็อกดาวน์ของแต่ละรัฐในเยอรมันนั้นแตกต่างกันออกไป สัปดาห์ที่ผ่านมา บางรัฐเริ่มอนุญาตให้เปิดร้านค้าขนาดเล็ก ขณะที่โรงงานรถยนต์อย่างโฟล์คสวาเกน ขณะนี้ เริ่มกลับมาผลิตรถยนต์อีกครั้งแล้ว ส่วนบางรัฐเตรียมอนุญาตให้โรงเรียน “เปิดเทอม” ตามปกติ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 พ.ค. เป็นต้นไป

นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละรัฐ ยังออกกฎบังคับให้สวม “หน้ากากอนามัย” ในที่สาธารณะ โดยแต่ละรัฐ มีข้อบังคับที่แตกต่างกันออกไป ในเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมันนั้น บังคับให้สวมหน้ากากเฉพาะเมื่ออยู่บนรถโดยสาร – รถไฟ สาธารณะ แต่ในร้านค้า ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ และไม่มีโทษ “ปรับ” หากไม่สวมหน้ากาก

ขณะที่ในรัฐบาวาเรีย รัฐทางตอนใต้ของเยอรมัน ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุดของประเทศอยู่ที่ 3.8 หมื่นราย มีโทษปรับ 150 ยูโร (ประมาณ 5,300 บาท) สำหรับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากออกจากบ้าน และหากพนักงานในร้านค้า ในห้างสรรพสินค้าไม่ยอมสวมหน้ากาก อาจมีโทษปรับ สูงถึง 5,000 ยูโร (ประมาณ 1.76 แสนบาท)

สำหรับการพิจารณาผ่อนปรนกฎล็อกดาวน์เริ่มต่อไปนั้น รัฐบาลจะตัดสินใจในวันที่ 6 พ.ค. ว่าจะเริ่มเปิดทำการอะไรเพิ่มเติม โดยขณะนี้ เริ่มมีแรงกดดันจากประชาชน และจากฝ่ายค้านมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เริ่มรุนแรงมากขึ้น

ตัวเลขล่าสุดจากสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจแห่งชาติเยอรมัน ระบุว่า ในปีนี้เศรษฐกิจเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่และแข็งแรงที่สุดในยุโรป จะหดตัวกว่า 6.6% โดยในไตรมาสแรก โควิด – 19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจเยอรมันไปแล้วกว่า 1.9%

อย่างไรก็ตาม นายกฯ เมอร์เคิล แถลงก่อนหน้านี้ว่าจะ “ไม่รีบเร่ง” ผ่อนปรนกฎล็อกดาวน์ โดยจะพิจารณาจากค่า R0 เป็นหลัก ว่าเมื่อไหร่ที่ควรผ่อนปรนเพิ่มเติม

“หากคน 1 คน สามารถแพร่เชื้อต่อได้ 1.1 คน เตียงไอซียู จะเต็มขีดความสามารถในเดือน ต.ค. และหาก 1 คน สามารถแพร่เชื้อต่อได้ 1.2 คน ระบบสุขภาพจะเต็มขีดความสามารถในเดือน ก.ค. และหากพุ่งขึ้นไปที่ 1.3 เตียงไอซียู จะเต็มในเดือน มิ.ย.” เมอร์เคิล ระบุ

นอกจากนี้ นายกฯ เยอรมัน ยังร้องขอประชาชนให้พบปะกัน 1 คน ต่อ 1 คน เท่านั้น ในที่สาธารณะ โดยให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร

แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค

แหล่งที่มา

1.Coronavirus latest: US tally puts infections at over 1 million (https://www.dw.com/)

2.German economy to contract by 6.6% in 2020 (https://www.dw.com/)

3.Germany embraces masks as restrictions ease (https://www.rte.ie/)