ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อ้อยประชารัฐ ฝุ่นพิษ โควิดระบาด และพาราควอต อย่าให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลแหกตาล้มการแบนสารพิษ

1. การปลูกอ้อยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นการทำการเกษตรที่ทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการเทำเกษตรรูปแบบอื่น โดยผลการศึกษาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปี 2556 พบว่า การปลูกอ้อยและข้าวโพดทำให้เกษตรกรได้ผลกำไรสุทธิเพียง 1,381 และ 1,494 บาทต่อไร่ เท่านั้น ในขณะที่การทำเกษตรรูปแบบอื่นอีก 4 รูปแบบ ได้แก่ ปลูกหญ้าผลิตพลังงาน เลี้ยงปลานิล ปลูกหญ้าเลี้ยงโค และเกษตรผสมผสาน ได้ผลกำไร 3,567-7,337 บาท/ไร่

แต่อุตสาหกรรมอ้อยและอาหารสัตว์มีอิทธิพลต่อรัฐบาล ทำให้การเกษตรรูปแบบอื่นที่เกษตรกรได้ประโยชน์มากกว่าไม่ถูกส่งเสริม

2. นโยบายประชารัฐของรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านเกษตรของประเทศ ส่งให้เกิดนโยบายทางการเกษตรที่บิดเบือนไม่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย โดยการสนับสนุนเงินให้เปล่าแก่เกษตรกรที่เปลี่ยนแปลงการเกษตรรูปแบบอื่นเป็นอ้อย ทั้งแถมเงินกู้ดอกเบี้ยเพียง 0.01% สำหรับอ้อยแปลงใหญ่ ส่งผลให้พื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้นถึง 3 ล้านไร่ ระหว่างปี 2557-2562

3. การปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในจังหวัดภาคกลาง และตะวันออก หลายจังหวัดอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้เนื่องจาก 61% ของพื้นที่ปลูกอ้อยต้องใช้วิธีการเผาก่อนเก็บเกี่ยว สร้างปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ไม่นับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการก่อมลพิษของโรงไฟฟ้าชีวภาพและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของอ้อยในพื้นที่หลายแห่ง จนเกิดการชุมนุมต่อต้านของประชาชนในหลายจังหวัด

4. นอกเหนือได้ประโยชน์จากงบประมาณ(จากภาษีของประชาชน) ในการผลิตแล้ว อุตสาหกรรมอ้อยยังถูกออกแบบทางนโยบายให้ผู้บริโภคต้องซื้อน้ำตาลราคาแพง ควักกระเป๋าสตังค์ของประชาชนโดยตรงเพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมน้ำตาลเมื่อน้ำตาลในตลาดโลกมีราคาตกต่ำ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยถูกยื่นฟ้องร้องโดยประเทศคู่แข่ง เช่น บราซิล และออสเตรเลีย เป็นต้น

5. ภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปิโตรเลียมของโลกลดลง (รวมทั้งการไม่สามารถเจรจากันเรื่องลดการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน) ได้ส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยและน้ำตาลในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบราซิลซึ่งนำอ้อยไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ราคาอ้อยในตลาดโลกร่วงลงเป็นประวัติการณ์ (เดือนเดียวลดลง 24.6%) นโยบายการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อเอาใจกลุ่มทุนน้ำตาลที่ผ่านมา กำลังส่งผลร้ายต่ออุตสาหกรรมอ้อยในการปรับตัว

6. กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลกำลังอ้างผลกระทบจากไวรัสระบาด ซึ่งราคาน้ำตาลตกต่ำ ผลกำไรลดลง เพื่อกดดันให้รัฐบาลยกเลิกการแบนพาราควอต โดยอ้างว่าการแบนพาราควอตทำให้ต้นทุนของพวกเขาเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ปัญหาของพวกเขาอยู่ที่ การไม่ยอมปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ แทนที่จะลดพื้นที่่การปลูกอ้อยที่เกษตรกรได้กำไรเพียงน้อยนิด แต่กลับใช้งบประมาณของรัฐ +ล้วงกระเป๋าสตังค์ของผู้บริโภค มาอุดหนุนกลุ่มทุนเหล่านี้ โดยผลักภาระผลกระทบต่อสุขภาพของแรงงานรับจ้างฉีดพ่นสารเคมี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปให้กับประชาชน

7. ตัวเลขที่บอกว่า การแบนพาราควอตกระทบอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความเสียหาย 1.5 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขแหกตา ฐานคิดของพวกเขามาจากการอ้างว่าการแบนพาราควอตจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 50% ทั้งๆที่สามารถใช้วิธีการอื่นทดแทนได้ เช่น มีหลักฐานงานวิจัยของกระทรวงเกษตรฯ 2 งานวิจัย โดยงานวิจัยแรก (วันทนา และคณะ,2555) พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการควบคุมกำจัดศัตรูพืชในอ้อยหลายวิธีนั้น มีวิธีการที่ดีกว่าการใช้พาราควอต เช่น การใช้จอบหมุนติดท้ายรถไถเดินตามและติดท้ายรถแทรกเตอร์ เป็นวิธีการที่ทำให้ได้อ้อยมีผลผลิตมากกว่าวิธีการอื่นๆ และงานวิจัยอีกชิ้น (ตรียนัย และคณะ, 2551)ซึ่งทำการทดลองกับอ้อยหลายสายพันธุ์พบว่า อ้อยที่ใช้สารพาราควอตนั้นได้ผลผลิตต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีอื่น เป็นต้น

เมื่อมีทางเลือกที่ดีกว่า การอ้างว่าการแบนทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าแสนล้านจึงเป็นตัวเลขเหลวไหล

8. ในสถานการณ์ไวรัสระบาด พวกเขาใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนการแบนสารพิษร้ายแรงที่เกือบ 60 ประเทศแบนไปแล้ว ทั้งที่ในบริบทเศรษฐกิจและสังคมหลังและระหว่างการระบาดนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ ลดพื้นที่การปลูกอ้อยลง เปลี่ยนต้นทุนจากสารพิษร้ายแรงมาเป็นการใช้เครื่องจักรกล และใช้โอกาสที่ประชาชนเรือนแสนเรือนล้านหวนคืนสู่ภาคเกษตรกรรม ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานเพื่อจัดการปัญหาวัชพืช ปรับพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นการผลิตอื่นที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า เช่น หันไปทำรูปแบบเกษตรกรรมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเน้นตลาดภายในมากกว่าการส่งออก เป็นต้น

นโยบายเอื้อต่อกลุ่มทุน ผลักภาระและต้นทุนต่างๆไปให้กับประชาชน มากกว่าจะนึกถึงชีวิตของเกษตรกรรายย่อย แรงงานรับจ้าง ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลและรัฐบาล "ประชารัฐ" ล่มสลายในวันหนึ่งข้างหน้า

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

29 เม.ย.63