ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ในการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป รอบที่ 2 เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลนอกจากเรื่องการเข้าถึงยา ที่อาจจะทำให้เกิดการผูกขาดราคายา และทำให้คนไทยต้องใช้ยาแพงมากขึ้นแล้ว ยังมีสิ่งที่น่ากังวลมากคือการที่สหภาพยุโรปพยายามเรียกร้องให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญายูปอพ 1991 เข้าร่วมในสนธิสัญญาบูดาเปส และเรียกร้องให้มีการขยายสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิต ซึ่งสนธิสัญญานี้จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม

โดยในด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประเทศนั้น นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง กว้างขวาง โดยเฉพาะเกษตรกร หากรัฐบาลไทยยอมรับตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป เฉพาะสนธิสัญญายูปอพ 1991 จะทำให้มีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรและการคุ้มครองพันธุ์พืชเพิ่มเติมออกไปอีก 8 ปี จากเดิมที่ให้การคุ้มครองสิทธิอยู่ที่ 12 ปี รวมกันแล้วจะทำให้มีการคุ้มครองยาวนานถึง 20 ปี ทีเดียว และยังห้ามไม่ให้เกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ รวมถึงการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชระหว่างเกษตรกรซึ่งเป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีของชาวบ้าน ที่หนักที่สุดคือนอกจากจะคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ใหม่แล้วยังหมายรวมไปถึงอนุพันธุ์ของพืชตัวนั้นด้วย ยกตัวอย่างคือ เมื่อปลูกไปแล้วเกิดกลายพันธุ์ หรือชุมชนเอาพันธุ์พืชใหม่เหล่านั้นมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เดิมจะถือว่าไม่ได้เป็นพันธุ์พืชของบริษัทอีกแล้ว แต่ต่อไปจะถือว่ายังเป็นอนุพันธ์ของสายพันธุ์ของบริษัทอยู่ หากถามว่าเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมของไทยละไปไหน ซึ่งตามปกติแล้วต้นแบบยังเป็นของไทยแต่ปัญหาคือเมือมีการพัฒนาพันธุ์พืชขึ้นใหม่ พันธุ์พืชท้องถิ่นจะถูกแทนที่ไปโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ การเข้าไปเป็นภาคีสนธิสัญญายูปอพจะทำให้ประเทศไทยต้องแก้กฎหมายพันธุ์พืชปี 2542 ซึ่งมีกลไกการแบ่งปันและเข้าถึงประโยชน์ จากที่บริษัทเอาพันธุ์พืชท้องถิ่นไปใช้วิจัยจะต้องขอแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ถ้าเราเข้ายูปอพกฎหมายนี้จะต้องถูกแก้ไขไปจนถึงขั้นยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

“หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถ้าจัดลำดับแล้วประเทศไทยอยู่ในลำดับ 1 ใน 10 ของโลก ซึ่ง สวทช. โครงการ Biodiversity Research Thailand,สวทช.เคยประเมินไว้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยมีประมาณ 10% ของความหลากหลายของโลก นี่เป็นพื้นฐานสำคัญ การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร หรือพันธุ์พืชก็ดีตามข้อเสนอของสหภาพยุโรปจะกระทบต่อฐานความหลากหลายทางทรัพยากรของประเทศโดยรวม สิ่งที่กระทบชัดๆ คือทำให้เมล็ดพันธุ์แพงขึ้นเป็น 2-3 เท่าเป็นอย่างน้อย และมาสุดถึง 6 เท่าตัว ทำให้มูลค่าค่าใช้จ่ายด้านเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 28,635 ล้านบาทต่อปี ขยายไปเป็น 80,721-142,932 ล้านบาทต่อปี ขยายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งนี้หากเกษตรกรที่ละเมิดเอาพันธุ์พืชไปปลูกหรือปรับปรุงจะต้องจ่ายค่าปรับรวมถึงโทษทางอาญาคือจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 ถือเป็นโทษที่รุนแรงมาก และที่สำคัญคือรัฐวิสาหกิจชชุมชน และนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยจะได้รับผลกระทบเพราะการเข้าถึงพันธุ์พืชและปรับปรุงต่อทำได้ยากขึ้น”

ขณะที่สนธิสัญญาบูดาเปสจะโฟกัสไปที่ประเด็นเรื่องจุลินทรีย์เป็นสำคัญ แต่เมื่อรวมกับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตแล้วจะเป็นสิ่งมีชีวิตทุกประเภท แล้วถ้ามีการการขยายสิทธิบัตรจุลินทรีและการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต มูลค่าของความหลากหลายางชีวภาพของประเทศไทยประเมินเฉพาะจุลินทรีอย่างเดียวประมาณ 300,000-500,000 ล้านบาทต่อปี เพราะประเทศไทยมีจุลินทรีโดยเฉลี่ยเกือบ 10% ของจุลินทรีที่มีทั้งหมดในโลก เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถือว่าสูงมาก

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนั้นคือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และที่กังวลมากคือขณะนี้มีความพยายามเอาสิทธิ GSP (Generalized System of Preferences) หรือระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป สำหรับประเทศยากจน มาต่อรอง โดยอ้างว่าประเทศไทยยังยากจนอยู่ ยังต้องขอรับ GSP ซึ่งสหภาพยุโรปดำเนินการเพื่อให้แต้มต่อกับประเทศกำลังพัฒนา แต่ต้องแลกกับการเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญายูปอพ และสนธิสัญญาบูดาเปส แต่เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากสิทธิ GSP หลักๆ จะมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ อันดับหนึ่งคือกลุ่มชิ้นส่วนยายนตร์ 33% รองลงมาคือกลุ่มเครื่องไฟฟ้าอิเล็กซ์ทรอนิกส์ และมอเตอร์ไฟฟ้า 15 % กลุ่มกุ้งแช่แข็งและแปรรูป 12% นั่นหมายความว่าเรากำลังแลกกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจข้ามชาติและยักษ์ใหญ่การเกษตร

ทั้งนี้จากผลการวิเคราะห์ผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP ของผู้แทนการค้าไทย ประจำองค์การการค้าโลก กระทรวงพานิชย์ เมื่อปี 2555 พบว่า มีมูลค่าความความสูญเสียแค่เพียง 1,080 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง โดยในปีแรกจะถูกตัด GSP ของสินค้าประมาณ 50 รายการที่เกินเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนดคิดเป็นมูลค่า 77.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากนั้นเนื่องจาก GDP ของประเทศเกินระดับที่กำหนด จะถูกตัดอีก 723 รายการ คิดเป็นมูลค่า 64 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามมีผู้กล่าวอ้างว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ GSP จะมีบางประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการส่งออกประมาณ 931 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งหมด 1,080 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 34,000 ล้านบาท แต่เมื่อเอาตัวเลขความสูญเสียรายได้จากการถูกตัดสิทธิ GSP จำนวน 34,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับตัวเลขพันธุ์พืชที่ความเสียหายขั้นต่อยู่ที่ 80,721-142,932 ตรงนี้จะเกิดความเสียหายกับเกษตรกรอย่างร้ายแรงแน่ๆ แต่บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติหลายบริษัทจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากสนธิสัญญานี้เพราะเขาสามารถเอาพันธุ์พืชของเขาไปขอรับการผูกขาดได้เลย

เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากสิทธิ GSP หลักๆ จะมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ อันดับหนึ่งคือกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ 33% รองลงมาคือกลุ่มเครื่องไฟฟ้าอิเล็กซ์ทรอนิกส์ และมอเตอร์ไฟฟ้า 15 % กลุ่มกุ้งแช่แข็งและแปรรูป 12% นั่นหมายความว่าเรากำลังแลกกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจข้ามชาติและยักษ์ใหญ่การเกษตร

ทั้งหมดที่กล่าวมาหมายถึงว่ากลุ่มธุรกิจ อาหาร เมล็ดพันธุ์จะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยต้องแลกกับการรับข้อตกลงของสหภาพยุโรป เพราะว่าบริษัทเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการขายเมล็ดพันธุ์ที่แพงขึ้น 2-6 เท่า ในขณะเดียวกันยังจะได้รับประโยชน์จากสิทธิ GSP ด้วย

ดังนั้น การเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเบสต์ที่พ่วงติดมากับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู จึงต้องละเอียดรอบคอบ โปร่งใส มองไกลๆ มองไปในระยะยาว เพราะงานนี้มีฐานทรัพยากรสำคัญที่หลายๆ ประเทศในโลกไม่มีเป็นเดิมพัน