สธ.เผยเคสผู้ป่วย 72 ปี ไปรพ.หลายแห่ง เพราะมีโรคประจำตัว มีพฤติกรรมสวมหน้ากากผ้าสม่ำเสมอ ส่วนร้านตัดผม เบื้องต้นไม่มีลูกค้ารายอื่น ส่วนเคสชัยภูมิ ไม่พบเชื้อในภรรยา-ลูก สวมหน้ากากผ้าไม่ตลอด จ่อตรวจเชิงเชิงรุกในชุมชน
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีการสอบสวนโรคผู้ป่วยติดเชื้อที่มีประวัติเดินทางไปโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ว่า กรณีที่อยู่ในความสนใจ คือ ผู้ชายไทยอายุ 72 ปีมีประวัติรักษารพ.หลายแห่งด้วยโรคประจำตัว มะเร็งปอด เบาหวาน รักษาด้วยการให้เคมีบำบัด โดยเกิดขึ้นช่วงวันที่ 18 พ.ค. ชายคนดังกล่าวได้ไปรับยาที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ป่วยประจำ และไปตัดผมร้านตัดผมแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นมีอาการไข้ และวันที่ 20 พ.ค. รับรักษาไว้ที่รพ. เนื่องจากมีอาการไอ ไข้ เสมหะ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ป่วยดังกล่าวมีการเฝ้าระวังตัวเองดีมาก เนื่องจากมีประวัติโรคประจำตัว จึงสวมใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอด
นพ.โสภณ กล่าวว่า ทีมสอบสวนโรคได้ไปตรวจสอบร้านตัดผมแล้ว โดยขณะที่ไปตัดผม ไม่มีลูกค้ารายอื่นไปใช้บริการ แต่มีพนักงานอยู่หลายคน จึงระบุตัวว่าใคร ซึ่งพนักงานในร้านถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ เพราะใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเอง ทั้งนี้ ผู้ป่วยเมื่อถูกวินิจฉัยก็ได้รับตัวรักษาในรพ. ซึ่งส่วนบุคลากรก็มีการป้องกันตัวเองเช่นกัน ส่วนสมาชิกในครอบครัวมีประมาณ 2-3 คนที่อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ โดยผลตรวจจะออกในวันพรุ่งนี้(23 พ.ค.) ส่วนสิ่งที่เป็นคำถามว่า ได้รับเชื้อจากที่ใด เนื่องจากมีประวัติไปรพ. ก็มีความเสี่ยงรับเชื้อในรพ. เรากำลังสอบสวนหาข้อมูลว่า ไป รพ.ใดบ้าง
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ส่วนอีก 1 ราย ชายชาวเยอรมัน อายุ 42 ปี มาประเทศไทยปลายเดือนม.ค. และกลับไปเยี่ยมบ้านภรรยาที่จ.ชัยภูมิ ระหว่างนั้นไม่มีอาการ แต่เมื่อขับรถกลับมา กทม. ไปสมัครงานแห่งหนึ่งต้องไปตรวจร่างกาย จึงพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการป่วย และได้ตรวจคนใกล้ชิดทั้งภรรยา และลูก ไม่พบเชื้อแต่อย่างใด ดังนั้น คนใกล้ชิดไม่ติดเชื้อ คนอื่นที่เสี่ยงต่ำกว่าก็โอกาสจะน้อยลง อย่างไรก็ตาม ทีมสอบสวนโรคกำลังรวบรวมข้อมูล รายชื่อ ที่ยังไม่ได้ตรวจให้เข้ามาตรวจหาเชื้อต่อไป อย่างไรก็ตาม จ.ชัยภูมิ เคยมีเคสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.-เม.ย. พบ 3 ราย โอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ก็เป็นไปได้ จึงต้องมีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกต่อไป
“สำหรับรายที่ 2 ผู้ป่วยต่างชาติ มีพฤติกรรมในการป้องกันด้วยการสวมหน้ากากผ้าอยู่บ้าง ไม่สม่ำเสมอ แต่พฤติกรรมภาพรวมจะเป็นอย่างไร ต้องดูอย่างละเอียดว่า เหมือนคนไทยที่สวมหน้ากากผ้า และล้างมือบ่อย แต่เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวเป็นคนไทยน่าจะมี แต่หลังจากนี้ต้องกำชับให้ปฏิบัติมากขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.อนุพงศ์ สุจริตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีร้านตัดผมนั้น เบื้องต้นกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่มีการสัมผัสกับผู้ป่วย ซึ่งก็คือช่างตัดผมและพนักงานในร้าน แต่เท่าที่ทราบทั้งผู้ป่วยและช่างตัดผมมีการใส่หน้ากากกันทั้งคู่ ดังนั้นโอกาสได้รับเชื้อจึงมีน้อยและถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ต้องขอความร่วมมือคนในร้านดังกล่าวปิดร้านเพื่อทำการกักตัวไปก่อน เพื่อความสบายใจ ส่วนลูกค้ารายอื่นที่มาตัดผมต่อจากผู้ป่วยนั้น ก็ไม่ต้องกังวล หากจะต้องมีการเฝ้าระวังจริงๆจะเป็นผู้ที่มาใช้บริการรายที่ 1 และ ราย2 ต่อจากผู้ป่วย แต่เชื่อว่าทีมสอบสวนโรคคงมีการประเมินความเสี่ยงไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลหรือไปตรวจหาเชื้อโควิดในขณะนี้ สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดผมนั้นยิ่งไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีการแพร่เชื้อและถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อยมาก เพราะตั้งแต่มีโรคเอดส์ ร้านทำผมยิ่งมีมาตรการดูแลเรื่องความสะอาดเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงเชื่อว่าการแพร่เชื้อของอุปกรณ์ที่ใช้ตัดผมนั้นต่ำมากจนแทบไม่มี
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
ล่าสุดโควิดเพิ่ม 3 ราย พบ 2 รายมีประวัติไปห้าง-ร้านตัดผม
สธ.ยังไม่เปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 “รพ.-ร้านตัดผม-ห้าง” ขอสอบสวนโรคก่อน
- 56 views