ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนบอกเล่าการปฏิบัติงานสู้โควิด-19 ของเภสัชกรทั่วประเทศที่ร่วมทำงานกับหลากหลายวิชาชีพด้านสาธารณสุข เพื่อร่วมป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหลากหลายวิชาชีพ ต้องปฏิบัติงานเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคในระดับต่างๆ เภสัชกร ก็เป็นอีกหนึ่งในหลากหลายวิชาชีพที่ทำงานตรงนี้

ภก.ทรงวุฒิ สารจันทึก ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เล่าถึงบทบาทของเภสัชกรที่ปฏิบัติงานในภาครัฐช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ว่า ในช่วงแรกของการระบาดนั้นโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศต้องรับมือกับสภาวะการขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนัก เภสัชกรต้องรับภาระและเป็นศูนย์กลางในการจัดการปัญหาด้านการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็น และร่วมในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาในระดับหน่วยงาน โรงพยาบาล และพื้นที่ เภสัชกรเป็นทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักในคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ( EOC ) โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการทรัพยากร อาทิ ในการเป็นผู้จัดหาและจัดเตรียมแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรค แอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ หน้ากากอนามัย

สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานภายในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่มารับบริการ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในชุมชน ได้แก่ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) เภสัชกรของหลายหน่วยงานต้องใช้ความพยายามจัดหาแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค รวมถึงต้องจัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ ในช่วงวิกฤตท่ามกลางสถานการณ์ที่ขาดแคลนแม้กระทั่งสารเคมีที่จะนำมาจัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในบางรายการ แต่ก็ต้องหาทางปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เพื่อให้มีสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ นอกจากนั้นยังต้องบริหารจัดการยา ได้แก่ การจัดเตรียมและตรวจสอบยาสำหรับส่งให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในรายที่ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ามารับยาที่โรงพยาบาล ติดตามปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงวางแผนการจัดหายาโรคเรื้อรังในภาวะที่ยาโรคเรื้อรังจากการขาดแคลนวัตถุดิบในระดับประเทศที่โรงงานผลิตยาต้องใช้ในการผลิตยาโรคเรื้อรัง

ในระดับชุมชนและท้องถิ่น เภสัชกรต้องสนับสนุนด้านความรู้ให้กับชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดหาและจัดเตรียมทรัพยากรจำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ การจัดเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่างๆที่สามารถจัดหาได้ในขณะนั้น เพื่อใช้ล้างทำความสะอาดสถานที่สาธารณะตามจุดต่างๆที่เป็นจุดเสี่ยง เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 ในภาวะขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น นอกจากนั้น เภสัชกรยังเป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนเครือข่ายต่างๆ ในการดำเนินมาตรการในการป้องกันการระบาดของการระบาดของไวรัส COVID-19 เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ภาครัฐของกรมการปกครอง และผู้นำชุมชน เป็นต้น

ในระดับจังหวัด เภสัชกรที่ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ทำหน้าที่บริหารจัดการในการป้องกันการระบาดของการระบาดของไวรัส COVID-19 ด้านทรัพยากร เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ PPE โดยประสานกับส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ประกอบการ สถานพยาบาลในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นอย่างทั่วถึงและทันเวลา

ในระดับประเทศ เภสัชกรเป็นผู้บริหารจัดการข้อมูล ได้แก่ รวบรวมอัตราการใช้ยาโรคเรื้อรังทั้งประเทศ รายการยาโรคเรื้อรังที่ขาดแคลน และรายการที่มีแนวโน้มขาดแคลนในระยะเวลาอันใกล้ ประสานหน่วยงานที่ทำหน้าที่กระจายยาให้ถึงมือผู้ป่วยทั่วประเทศ ผู้บริหารระดับกระทรวงและผู้ผลิตยา ซึ่งสถานการณ์ ณ ปัจจุบันยารักษาโรคเรื้อรังบางรายการเริ่มขาดแคลนแล้ว ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องร่วมกันวางแผนในการนำเข้าวัตถุดิบวางแผนในการผลิตยาโรคเรื้อรังโดยเร่งด่วน เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งประเทศไม่ขาดยา

“จะเห็นว่า แม้แนวทางป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยการให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาลนั้น เภสัชกร ยังต้องร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพหลัก ในการจัดบริการ ตรวจ ประเมิน ติดตาม การใช้ยา และพัฒนาระบบการนำส่งยาให้ ถึงมือผู้ป่วยทุกราย แม้จะไม่ได้มารับบริการที่โรงพยาบาลก็ตาม” ภก.ทรงวุฒิ กล่าว

จากบทบาทที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะของเภสัชกร ที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งในระดับสากล ที่เภสัชกรล้วนแล้วมีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและการสาธารณสุข ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว บทบาทและสัดส่วนเภสัชกรในระบบมีจำนวนมากกว่าประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ยังต้องการเภสัชกร เพื่อมาดำเนินงานในบทบาทเฉพาะด้าน และการประสานงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และความมั่นคงของระบบสุขภาพของประเทศ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางแผนด้านอัตรากำลังคนสายงานเภสัชกรภาครัฐ เพื่อให้มีจำนวนเภสัชกรเพียงพอในการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวง สาธารณสุข ซึ่งต้องดูแลประชาชนให้ครอบคลุมถึงในระดับปฐมภูมิ ได้แก่ การดูแลถึงระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน อันเป็นการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศให้มีความยั่งยืนต่อไป