ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.ดันผลิตเภสัชกร Doctor of Pharmacy หลักสูตร 6 ปี เช่นเดียวกับแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ มอบรองปลัดฯติดตาม ความก้าวหน้าในวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข ให้นายกสภาเภสัชกรรม พร้อมคณะเข้าพบ เพื่อหารือความก้าวหน้าวิชาชีพเภสัชกรรม

นพ.โอภาส กล่าวถึงการดูแลความก้าวหน้าทางบุคลากรทางสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการดูแลทุกวิชาชีพ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจสำหรับผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่มีความสำคัญกับระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษาเป็น Doctor of Pharmacy ที่มีหลักสูตร 6 ปี เช่นเดียวกับแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ และมอบนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ติดตามความคืบหน้าและนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในการประชุมวิชาชีพ และมอบหมายให้น.ส.เสาวลักษณ์ ฉิมจาด รองผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษา และเสนอแนวทางการดำเนินงาน พร้อมหารือกับสำนักงาน ก.พ. ต่อไป 

รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม นำเสนอปัญหาวิชาชีพเภสัชกรและสถานการณ์การดำรงตำแหน่งข้าราชการของเภสัชกร (ณ 1 สิงหาคม 2566) จากทั้งหมด 8,890 ตำแหน่ง ที่มีเภสัชกรระดับชำนาญการสูงถึงร้อยละ 63.9 ในขณะที่ตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการพิเศษมีเพียงร้อยละ 8.2 ตอนนี้หลักสูตรเรียน 6 ปี เท่ากับแพทย์แล้ว ฉะนั้นเราน่าจะก้าวหน้าไปถึงระดับชำนาญการพิเศษเหมือนแพทย์ เพื่อให้เภสัชกรสามารถปฏิบัติงานในการพัฒนาระบบยาและเภสัชกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ค้นหาและแก้ไขปัญหาด้านยาและสุขภาพ ส่งผลให้ประชาชนได้รับการดูแลด้านยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา (Quality of Care) และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย (Quality of Life) อย่างเป็นระบบ

การเข้าพบผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ เพื่อเสนอพิจารณาตำแหน่งเภสัชกรเลื่อนไหลถึงระดับชำนาญการพิเศษทุกตำแหน่ง เช่นเดียวกับวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ และให้โอกาสเภสัชกร อย่างน้อยให้เขามีกำลังใจว่าทำงานหนักและมีความก้าวหน้าได้

ในการเข้าพบ ณ โอกาสนี้ สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน ชมรมเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคสุขภาพปฐมภูมิ (เภสัชกรเวชกรรมสังคมประเทศไทย) ชมรมเภสัชปฐมภูมิแห่งประเทศไทย และชมรมเภสัชกรสมุนไพรแห่งประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การขับเคลื่อนความก้าวหน้าวิชาชีพเภสัชกรจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข อย่างเป็นรูปธรรม