ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ. ย้ำปมย้าย “หมอชาญชัย” ผอ.รพ.ขอนแก่น ไม่เคยระบุเหตุข่มขู่พยาน ส่วนกรณีนพ.เกรียงศักดิ์ เคยเป็นผอ.รพ.ขอนแก่นปี 61 ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีใครร้องเรียนมา

จากกรณีนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น มายังกองบริหารการสาธารณสุข กรณีปัญหาเรียกรับเงินบริจาคบริษัทยาเข้ากองทุนพัฒนาโรงพยาบาล และตั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี มาเป็นรักษาการแทน กระทั่งนพ.นพ.ชาญชัย ขออุทรณ์คำสั่งย้ายของปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น

ล่าสุดวันที่ 9 มิ.ย.ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวกรณีกระบวนการตรวจสอบปมการย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น ว่า การย้ายนั้นไม่ได้ย้ายเพราะบัตรสนเท่ห์ใบเดียวทันที แต่เป็นการย้ายเพราะมีการดำเนินการตรวจสอบตรวจสอบทางวินัยว่ามีมูล โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ เมื่อเดือน ต.ค.2562 และได้มีการพิจารณาว่าบัตรสนเท่ห์มีรายละเอียด มีชื่อมีตำแหน่งมีหลักฐาน มีความน่าเชื่อถือหรือไม่

จากนั้นจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นช่วงปลายเดือน ต.ค.2562 โดยมี นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุข นิเทศกระทรวงสาธารณสุขเขต 6 เป็นกรรมการตรวจสอบร่วมกับนิติกรตรวจสอบบัตรสนเท่ห์ว่าเชื่อได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ระบุว่ามีการกระทำผิด โดยใช้เวลาตรวจสอบ 8 เดือน จึงขอชี้แจ้งที่อาจมีการเข้าใจผิดไม่ใช่ได้บัตรสนเท่ห์แล้วย้ายทันที

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นพ.ชาญชัย ผอ.รพ.ขอนแก่น ยื่นอุทธรณ์กรณีถูกย้ายออกจากพื้นที่เพราะมีการข่มขู่พยานนั้น ใครไปบอกว่าข่มขู่ ในคำสั่งไม่ได้เขียนว่าข่มขู่ ส่วนที่มีการเผยแพร่เอกสารต่างๆ ตนไม่ได้เผยแพร่เพราะทำไม่ได้ เช่นเดียวกับกรณีการระบุว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็เป็นเพียงคำกล่าวหา แต่กระทรวงยังไม่ได้บอกว่า นพ.ชาญชัย ฉ้อราษฎร์บังหลวงแต่อย่างใด

เมื่อถามว่าต้องมีการสอบนพ.เกรียงศักดิ์ ด้วยหรือไม่ เนื่องจากเคยเข้าไปเป็นผอ.รพ.ขอนแก่นช่วงต.ค. 2561 ซึ่งก็คาบเกี่ยวกับนพ.ชาญชัย เป็นผอ.รพ.เช่นกัน นพ.สุขุม กล่าวว่า หากมีความเกี่ยวพันธ์กับใคร ก็ต้องเรียกมาสอบทั้งหมด เพื่อให้เกิดความมั่นใจ อีกอย่างก็ต้องพิจารณาว่ามีการกล่าวหาร้องเรียนนพ.เกรียงศักดิ์ ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมีก็ร้องมาได้ที่ผู้บังคับบัญชา

“หากต้องการร้องเรียนอะไรต้องร้องเรียนมาที่ผู้บังคับบัญชา หากร้องเรียนผู้ไม่เกี่ยวข้อง ทางสธ.คงตั้งกรรมการสอบให้ไม่ได้ ก็ให้ร้องมาทางผู้บังคับบัญชาดีกว่า ” นพ.สุขุม กล่าว

ด้าน นพ.อภิชาติ กล่าวว่า สำหรับการเข้าไปตรวจสอบมีคณะกรรมการทั้งหมด 5 คน โดยในการตรวจสอบได้มีการเรียกพยานบุคคล พยานเอกสาร มีการเรียกหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล รวมถึงลงไปสอบข้อมูลที่โรงพยาบาลขอนแก่นตามเส้นทางของหลักฐานและบุคคลที่กล่าวถึง โดยเรื่องที่เป็นการรับเงินที่เป็นผลประโยชน์จากบริษัทมีมูลควรกล่าวหา กรรมการจึงได้เสนอมาที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีมูลทั้งที่เป็นพยานบุคคลและเอกสาร ซึ่งคงต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้ แต่เบื้องต้นรายงานแค่ที่มีมูลกล่าวหาทางวินัยให้คณะกรรมการได้รับทราบตามลำดับไม่มีการกลั่นแกล้งทำงานตามเกียรติศักดิ์ศรีของข้อราชการ

เมื่อถามว่าผลการสืบสวนมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการเชื่อมโยงกับนพ.ชาญชัย ใช่หรือไม่ถึงได้มีการชี้มูลเป็นชื่อผอ.รพ.ขอนแก่น นพ.อภิชาติ กล่าวว่า โดยสรุป ในฐานะที่องค์กร นพ.ชาญชัย ก็เป็นผู้นำผู้บริหารองค์กร และในฐานะชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องในหลักฐาน ก็ทำให้มีมูลถึงแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยว่าเป็นหลักฐานตัวไหน

ด้านนายเสมอ กาฬภักดี นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สธ. กล่าวว่า การสืบสวนไม่ใช่การโต้ในที่สาธารณะเป็นความลับของราชการ หลักโดยทั่วไป เมื่อมีการกล่าวหา ซึ่งอาจจะผิดหรือไม่ผิดก็ได้ จะต้องมีการสืบสวนพิจารณาเบื้องต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยหรือไม่ ประเด็นที่ถามว่า ทำไมบัตรสนเท่ห์ถึงรับพิจารณา ตาม กฎคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 เขียนไว้แล้วถึงแม้ไม่ระบุชื่อผู้ถูกร้องเรียน แต่มีกรณีแวดล้อมพยานหลักฐานเบื้องต้นก็ให้ดำเนินการตรวจสอบ สืบสวนพิจารณาเบื้องต้น คณะกรรมการได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งพยานบุคคลและเอกสาร เพื่อพิจารณาในแต่ละประเด็นที่ร้องเรียนต่างๆ ซึ่งมีหลายประเด็น คณะกรรมการได้พิจารณาแต่ละประเด็น มีทั้งเห็นควรยุติการให้ข้อสังเกต และเห็นว่ามีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง

“คำว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไม่ได้แปลว่าทำผิดในทันที แต่แปลว่ามีมูลที่ควรกล่าวหา ซึ่งเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย จะร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม ยังมีกระบวนการที่จะให้ความเป็นธรรมกับทางผู้ถูกกล่าวหา มีการสอบสวน การแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงโต้แย้ง รวมทั้งการสอบพยานบุคคลหรือพยานหลักฐาน ที่ทางผู้ถูกกล่าวหาได้อ้างอิง กระบวนการทางวินัยจะไม่ได้สิ้นสุดอยู่ที่คณะสืบสวนหรือการแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยอย่างร้ายแรง ยังมีขั้นตอนในชั้นคณะสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา” นายเสมอ กล่าว

นายเสมอ กล่าวต่อว่า หลักข้อกฎหมายเมื่อตั้งสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง กรรมการรับฟังคำชี้แจง สอบพยานมีความเห็นแล้วก็จะต้องเสนอความเห็นต่อผู้สั่งแต่งตั้ง คือปลัดฯ พิจารณา ถ้าเห็นว่าเรื่องนั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็ยังลงโทษไม่ได้ ต้องเสนอให้อนุคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนของกระทรวงฯ (อ.ก.พ.) กระทรวงฯ สธ. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการฯ เป็นประธาน ซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาในสำนวนการสอบสวนว่าผิดหรือไม่ผิด ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง จะมีขั้นตอนของกฎหมาย หากสมมติว่าไม่ผิด ก็สั่งยุติเรื่อง ถ้าผิดไม่ร้ายแรงก็ทำการลงโทษ เช่น ลดเงินเดือน ถ้าเห็นว่าผิดร้ายแรงก็ปลดออกหรือไล่ออก เมื่อมีคำสั่งปลดออกหรือไล่ออกผู้ถูกลงโทษก็มีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมได้อีกภายใน 90 วันนับจากสร้างคำสั่ง แม้ อกพ. จะเห็นว่ามีความผิดทางวินัยอยู่ ผู้ถูกลงโทษก็ยังมีสิทธิ์ขึ้นอำนาจศาล คือ กระบวนการยุติธรรมต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก ซึ่งกระบวนการนี้จะเป็นกระบวนการทางด้านวินัยของคณะกรรมการตั้งแต่เริ่มร้องเรียนกล่าวหา สืบสวนตรวจสอบ พิจารณาเบื้องต้นหรือสอบวินัยอย่างร้ายแรง โดยจะมีขั้นตอนตามกฎหมายซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน