ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พม.ร่วมมือสสส. ขับเคลื่อนร่างข้อเสนอเชิงนโยบายด้านครอบครัวเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสตรีและครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2563  “สานพลังสังคมไทย สร้างครอบครัวคุณภาพ สู่ชีวิตวิถีใหม่” วันที่ 10 ก.ย.นี้  

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่โรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพมหานคร กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และผู้แทนทุกภาคส่วน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายด้านครอบครัว ครั้งที่ 6  โดยมี นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธานในการประชุมฯ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการจัดเวทีนี้ คือ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการระดมความคิดเห็น รับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายจากภาคส่วนต่างๆ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะด้านนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว องค์ประกอบที่สำคัญในการได้มาซึ่งข้อมูลได้มาจาก กลุ่มครอบครัวกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มภาคเอกชนและสถานประกอบการ กลุ่มภาครัฐ ที่ประชุมฯ ได้มีการนำเสนอสถานการณ์ครอบครัวของประเทศไทย และข้อเสนอแนะเชิงนโนบาย จากการประชุมที่ผ่านมาทั้งหมด 5 ครั้ง 

ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้านการศึกษา สื่อสารมวลชนด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวสรุปประเด็นปัญหาที่ค้นพบจากเวทีเชิงปฏิบัติการ ดังนี้ 1.ความจำเป็นด้านการประกอบอาชีพทำให้ต้องการสวัสดิการที่เหมาะสมจากภาครัฐ 2.คุณภาพของศูนย์เด็กเล็ก/สถานศึกษา 3.กฎหมายที่เอื้อต่อการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม 4.เนื้อหาของสื่อไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและครอบครัว 5.องค์ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐในการเลี้ยงลูกยังไม่เพียงพอและกลุ่มครอบครัวยังเข้าไม่ถึง 6.การไม่รู้เท่าทันสื่อของครอบครัว 7.จรรยาบรรณของสื่อที่ยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมเท่าที่ควร 8.การบูรณาการงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐยังเป็นช่องว่างอยู่ 9.ยังไม่มีฐานข้อมูลด้านครอบครัว (Family Big Data) ที่ครอบคลุมทำให้มีผลต่อการจัดมาตรการและสวัสดิการต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอ 10.ประชาชนยังไม่รู้สิทธิ สวัสดิการด้านครอบครัวขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดให้ เป็นต้น นำมาสู่ข้อเสนอ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการพื้นที่การเรียนรู้(Learning Space) 2.บทบาทของสื่อและการสื่อสารข้อมูลด้านครอบครัว 3.การจัดสวัสดิการสำหรับครอบครัวช่วงสถานการณ์โควิด-19 4. การจัดการเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับครอบครัวในระยะยาว ผลจากการประชุมรับฟังความเห็นและการระดมสมองครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ให้ความสนใจเรื่อง “การบริหารจัดการเชิงพื้นที่การเรียนรู้” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทุกภาคส่วนมีต้นทุนอยู่ มีความพร้อม สามารถทำได้ทันที และสามารถใช้จัดการกับปัญหาได้ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ควบคู่ไปกับการผลักดันนโยบายเรื่องสวัสดิการเร่งด่วนสำหรับครอบครัวเปราะบางที่เพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะถูกนำไปบรรจุเป็นวาระสำคัญในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายด้านครอบครัว ในงานประชุมสมัชชาสตรีและครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2563 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 กันยายน 2563 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนซันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ภายใต้แนวคิดหลัก “สานพลังสังคมไทย สร้างครอบครัวคุณภาพ สู่ชีวิตวิถีใหม่” โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมสมัชชากว่า 300 คน
 
ทั้งนี้ สสส.พร้อมสนับสนุนการบูรณาการองค์ความรู้ พื้นที่ และภาคีเครือข่าย เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ของครอบครัวทุกรูปแบบ โดย สสส. จะทำหน้าที่เป็นลมใต้ปีกเพื่อให้ กรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ที่เป็นหน่วยงานหลักระดับประเทศขับเคลื่อนประเด็น “การสร้างครอบครัวคุณภาพ” เพื่อประโยชน์กับสังคมไทย