ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เปิดห้องทำงานชั้น 4 เพื่อหารือร่วมกับ นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ  เพื่อหารือกันถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ชนิด mRNA  ที่พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการสนับสนุนจากรัฐบาล

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันให้การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณให้แล้วจำนวน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ 600 ล้านบาท สำหรับการเจรจาถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ซึ่งขณะนี้นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือการเจรจาแล้ว ส่วนอีก 400 ล้านบาท ใช้สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของจุฬาฯ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคได้เร็วที่สุด

ด้าน นพ.เกียรติ กล่าวว่า เปิดเผยว่าผลการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA  ของไทย ให้ผลทดลองในหนูสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 50,000 ไตเตอร์ ผลการทดลองในลิงก็กระตุ้นภูมิได้ถึง 30,000 ไตเตอร์ อยู่ระหว่างรอผลิตวัคซีนต้นแบบเพื่อทดลองในคนระยะที่ 1 ซึ่งตามแผนเดิมจะเดินหน้าทดลองในคนระยะที่ 1 ประมาณเดือนต.ค. แต่ เนื่องจากขณะนี้วัคซีนที่มีการวิจัยในโลกกว่า 200 ชนิด และมีกว่า 140 ชนิด ที่ อยู่ในขั้นการทดลองในสัตว์ และ 42 ชนิดที่มีเริ่มทดลองในคนแล้ว ดังนั้นตอนนี้โรงงานผลิตวัคซีนคิวทองมาก จากที่เราตั้งใจว่าจะผลิตวัคซีนต้นแบบ 10,000 โดสเพื่อเดินหน้าทดลองในคนในเดือนต.ค.นี้ ก็ต้องเลื่อนออกไปประมาณ 1-2 เดือน นี่ขนาดเราจ่ายเงินจองคิวแล้วยังต้องรอไปก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะแล้วเสร็จและเดินหน้าผลิตได้ในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ของปี 2564  

ส่วนเรื่องอาสาสมัคร อย่าเพิ่งมาเชื่อพวกตนแค่เรามีฐานะเป็นอาจารย์หมอ แต่ขอให้รอคณะกรรมกากลาง คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.) เข้ามาดูก่อนว่าเราไม่โม้ มาตรวจเรื่องความปลอดภัย เรื่องมาตรฐาน จากนั้นต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยในคน ต่อไป หากพร้อมแล้วถึงจะประกาศรับสมัคร ดังนั้นอย่าเพิ่งโทรมา อีเมลมา ยังไม่มีใครได้เป็นอาสาสมัครในตอนนี้ จนกว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม การทดลองในคนจะแบ่งการทดลองรอบแรกในคนที่มีอายุ 18-55 ปี แบ่งเป็นกลุ่มละ 12 คน เพื่อหาขนาดและความปลอดภัย จากนั้นถึงจะขยับมาที่กลุ่มอายุ 65-75 ปี อีก 48 คน เพื่อดูเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ก่อนที่จะขยับไปสู่การทดลองระยะที่ 3 แต่เนื่องจากขณะนี้ มีวัคซีนหลายชนิดในโลกที่เริ่มทดลองในคน ซึ่งหลายๆ ชนิด ใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกัน หากของเขาสำเร็จก่อน ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญของไทย ที่อาจจะข้ามการทดลองในคนในระยะที่ 3 ได้