ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จิตแพทย์ชี้ดูภาพวาบหวิว เป็นการเบี่ยงเบนความเครียด แต่ไม่ใช่คลายเครียด ที่สำคัญควรมีกาลเทศะ และควรเลือกวิธีสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองอื่นๆ อย่างออกกำลังกาย การทำงานอดิเรกต่างๆ มากกว่าหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศ

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการดูภาพหรือคลิปวาบหวิว โป๊เปลือย ว่า ในทางจิตวิทยา ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์รูปแบบหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือการใช้อย่างเหมาะสมมากกว่า เพราะคำว่าเอนเตอร์เทนเมนต์กับคำว่าคลายเครียดนั้นเป็นคนละอย่างกัน เอนเตอร์เทนเมนต์ก็เพื่อให้เกิดความบันเทิง ซึ่งความบันเทิงของผู้ชายนั้นเรื่องการดูภาพโป๊ เปลือย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการคลายเครียด อย่างไรก็ตาม ในทางจิตวิทยาเรียกว่าเป็นการเบี่ยงเบนความเครียด แค่เอาตัวเราเองออกจากความเครียดนั้น เมื่อกลับมาอยู่ในสถานการณ์เดิมความเครียดก็จะกลับมา ดังนั้นไม่ได้เป็นการคลายเครียด

“ที่เน้น คือ การใช้อย่างเหมาะสม เพราะในโลกนี้ผู้ชายกว่า 90 % มีการดูเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ถ้าดูในที่ส่วนตัวก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าไปดูในที่ทำงาน ระหว่างทำงานอาจจะไม่เหมาะสม เพราะเป็นการไม่รู้จักกาลเทศะ ซึ่งกรณีนี้จะรวมถึงกิจกรรมเอนเตอร์เทนเมนต์ทุกอย่าง เช่น การพนัน ถ้าเอามาทำในเวลางานคงไม่เหมาะสม แม้กระทั่งการเปิดไลน์ หรือเปิดอะไรบางอย่างบางสังคมยังไม่ยอมรับ” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า การดูภาพเหล่านี้มีลักษณะทำให้เกิดความตื่นเต้น เร้าใจ ถ้าดูมากๆ จะกลายเป็นสิ่งเสพติด เป็นการเสพติดพฤติกรรมประเภทหนึ่ง โดยจะดูวันละหลายๆ ชั่วโมง เสียงานเสียการ ดูจนดึกดื่น ควบคุมตัวเองไมได้ ทั้งนี้การเสพติดพฤติกรรมถือเป็นอาการป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด ซึ่งในยุคโซเชียลมีเดีย ทุกคนเข้าถึงสื่อได้ง่าย จึงทำให้อัตราการเสพภาพเหล่านี้มีมากขึ้น และอัตราการเสพติดพฤติกรรมส่วนนี้ก็มากขึ้นเช่นเดียวกัน ที่น่าห่วงคือเด็กวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้เรื่องเพศ ซึ่งจะมีการสอดแทรกค่านิยมที่ไม่ถูกต้องเข้ามาด้วย เช่นค่านิยมกดขี่ผู้หญิง ค่านิยมแสวงหาความสุขทางเพศโดยไม่ถูกต้อง ไม่ปกติ เป็นต้น แม้กระทั่งในผู้ใหญ่เองก็เช่นเดียวกัน การเสพภาพ คลิปเหล่านี้จะมีหลายระดับ ถ้าเสพในระดับรุนแรงก็ต้องดูว่าเป็นความผิดปกติหรือไม่

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า เราควรมีทางเลือกในการสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย การทำงานอดิเรกต่างๆ มากกว่าการไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศ ถ้าเริ่มรู้ตัวว่ากำลังเสี่ยงเสพติดพฤติกรรม เช่น เริ่มใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้วันละหลายๆ ชั่วโมง ก็ต้องหาทางออก เช่น ขอคำปรึกษา และถ้าป่วยก็ต้องรักษา ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดข้อครหา หรือตีตรา เพราะเรื่องพวกนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาวะจิตใจจากเสพเพื่อความบันเทิง เป็นการเสพติดพฤตกรรม ซึ่งสามารถแก้ไขได้ เหมือนกับการติดยาบางครั้งแก้ไขเองไม่ได้ต้องอาศัยนักวิชาชีพ ซึ่งนักวิชาชีพไม่มีใครไปตีตรา

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์