ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยกรณี ASQ สมุทรปราการจัดการ 3 เรื่องเร่งด่วนแล้ว ส่วนระยะยาวเตรียมประชุมสัปดาห์หน้าปรับมาตรการเพิ่มเข้มประเทศเสี่ยงน้อย เสี่ยงกลาง เสี่ยงมาก ใครสามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางได้ พร้อมตั้งกก.ตรวจติดตามประเมิน หากไม่ได้มาตรฐานร้ายแรงเพิกถอนทันที

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการภายหลังพบหญิงชาวฝรั่งเศสอายุ 57 ปีติดโควิดภายในสถานที่กักกันทางเลือก หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) และพบเชื้อตกค้างภายในฟิตเนตของ ASQ ว่า กรณีที่เกิดขึ้นใน ASQ จ.สมุทรปราการนั้น ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีมาตรการออกมา คือ 1. ได้ให้ทางโรงแรมแห่งนี้หยุดรับคนเพิ่ม 2. ให้เข้มงวดในเรื่องของการปฏิบัติตามแนวทางเรื่องการจำกัดการติดเชื้อในจุดต่างๆ และ 3. เนื่องจากอยู่ระหว่างการหาข้อมูลการสอบสวนโรคจึงให้ผู้เข้าพักทั้งหมดอยู่แต่ในห้องไม่อนุญาตให้ออกมาใช้พื้นที่ส่วนรวม และหลังจากผู้เข้าพักอาศัยพ้นระยะกักตัวครบถ้วนแล้วก็จะมีการทำความสะอาดเพิ่มเติม

“นอกจากนี้เดิมการพิจารณาว่า โรงแรมไหนจะผ่านและได้รับเลือกเป็นสถานกักกันทางเลือก หรือ ASQ จะมีคณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่ตรวจประเมิน และไปตรวจเป็นวาระๆ แต่ขณะนี้การมี ASQ เป็นเรื่องระยะยาวแล้ว จึงจำเป็นต้องมีกลไกตรวจประเมินให้ชัดเจนและเป็นระบบ โดยตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจประเมินมาตรฐาน ที่มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน จะทำหน้าที่ในการติดตามการดำเนินการของ ASQ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งก็จะลงไปตรวจเยี่ยมเป็นระยะ ตรวจเยี่ยมเมื่อมีความเสี่ยง และเมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา แต่ตัวเลขการป่วยใน ASQ ก็ไม่ได้มากพบการติดเชื้อ 0.42%” นพ.ธเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามหากพบสถานกักกันทางเลือกไม่ได้มาตรฐานจะดำเนินการอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า เป็นไปตามขั้นตอน คือ 1.สั่งให้มีการปรับปรุง 2.สั่งระงับการรับผู้เข้าพักเพิ่ม และ3.ถ้าไม่ได้มาตรฐานมากก็ต้องเพิกถอนการเป็น ASQ ซึ่งกรณีนี้อย่าง หากพบว่า ไม่มีการปฏิบัติตามแนวทางข้อกำหนด จนทำให้พบผู้ติดเชื้อ และมีการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น

“นอกจากนี้ ในเรื่องการผ่อนปรนให้ผู้เดินทางเข้ามาจากกลุ่มประเทศต่างๆ จะสามารถมีการผ่อนคลายระหว่างการกักกันได้อย่างไร โดยจะแบ่งเป็นประเทศเสี่ยงต่ำ เสี่ยงกลาง และเสี่ยงสูง โดยประเทศเสี่ยงต่ำก็อาจ มีจุดผ่อนคลายระหว่างการกักกันให้ได้ ส่วนกลุ่มที่มาจากประเทศเสี่ยงสูงต้องรอผลการตรวจเชื้อกี่ครั้งถึงให้ออกมายังพื้นที่ส่วนกลางหรือไม่ หรือไม่อนุญาตเลย ซึ่งตรงนี้เป็นแนวคิดในการจัดการความเสี่ยง โดยมาตรการต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งการใช้พื้นที่ส่วนรวม หรือพื้นที่ส่วนกลางนอกจากพิจารณาตามความเสี่ยงแล้ว ยังต้องพิจารณาในเรื่องการจัดให้เข้าใช้เป็นรอบๆ ด้วย รวมถึงการพิจารณาการทำความสะอาดว่าต้องสัปดาห์ละกี่ครั้ง โดยเรื่องเหล่านี้จะประชุมพิจารณาในสัปดาห์หน้า” นพ.ธเรศ กล่าว