ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ยันผักผลไม้ส่วนใหญ่ 70-80% สารพิษตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน ทั้งที่ด่านนำเข้า โรงคัดแยกบรรจุ และตลาด ส่วนที่เกินมาตรฐานจะดำเนินคดีอาหารผิดมาตรฐานไม่ปลอดภัย โทษปรับ 5 หมื่นบาท 

 

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) สุ่มตรวจพบผักผลไม้มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างหลายชนิด ว่า การกำกับดูแลความปลอดภัยของผักผลไม้ตลอดห่วงโซ่อาหาร สธ.ทำร่วมกับหลายหน่วยงานเป็นเครือข่าย รวมทั้ง Thai-pan ด้วย เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลต้นน้ำเรื่องการปลูก ส่วน สธ. ดูแลปลายน้ำคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะที่โรงคัดแยกและบรรจุที่ อย.กำหนดให้มีการติดฉลากเพื่อให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตหรือแหล่งปลูกต้นทางได้ว่า ผักผลไม้นี้มาจากไร่สวนใด นอกจากนี้ ยังคอยตรวจสอบและเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ทั้งกลุ่มนำเข้าที่ด่านอาหารและยา 52 แห่งทั่วประเทศ ที่โรงคัดแยกและบรรจุ และผักผลไม้ที่จำหน่ายในตลาดทั่วประเทศ โดยส่งตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะที่กรมอนามัยก้มีการตรวจคุณภาพของผักผลไม้ที่จะมาเป็นวัตถุดิบของร้านอาหาร ภัตตาคารต่างๆ แม้กระทั่ง รพ.ในสังกัด สธ.ก็พยายามให้ข้อมูลความรู้ประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารให้ผู้ป่วย

นพ.พูลลาภกล่าวว่า จากการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ในปี 2563 ส่วนใหญ่ค่าสารพิษตกค้างยังคงผ่านเกณฑ์มาตรฐานมากกว่า 70-80% โดยสถานที่ผลิตหรือโรงคัดและบรรจุ และสถานที่จำหน่าย ได้แก่ ห้างค้าปลีก ค้าส่ง ตลาดนัด ตลาดสดทั่วประเทศ ตรวจวิเคราะห์ผักผลไม้ทั้งหมด 416 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 354 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 85.1 เช่น กะหล่ำปลี กระเทียม แครอท แตงกวา ผักกาดขาว กล้วย สับปะรด แอปเปิ้ล องุ่นเขียว เมลอน เป็นต้น ส่วนที่ด่านอาหารและยาตรวจ 890 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 698 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 78.43 เช่น กระเทียม มันเทศ หอมหัวใหญ่ เห็ด เป็นต้น สำหรับผักผลไม้ที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน จัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 จัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท กรณีสถานที่ผลิต (คัดและบรรจุ) หากผักผลไม้ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 386 มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และติดตามตรวจสอบไปถึงแหล่งผลิตเพื่อให้ปรับปรุงการปลูกและผลิตลดสารเคมี

ข่าวเกี่ยวข้อง : Thai-PAN เปิดผลสำรวจสารตกค้าง “ผัก -ผลไม้” ปี 63

 

"นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่ด่านนำเข้าอาหารและยา โดยมีการจัดทำประวัติสินค้าที่มีสารพิษตกค้างไว้ ก็จะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากมีการส่งเข้ามาจะมีการอายัดต และส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ หากเกินค่ามาตรฐานจะทำลายหรือส่งกลับประเทศต้นทาง ไม่ให้มาถึงมือประชาชน" นพ.พูลลาภกล่าว

 

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการแบนสารพิษทางการเกษตร  นพ.พูลลาภกล่าวว่า สธ.รณรงค์ลดความเสี่ยงการรับสารเคมีอันตรายร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พยายามไม่ให้นำเข้าสารเคมีอันตาย ทั้งยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัส รวมถึร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในการควบคุมกำกับ 3 สารพิษ ทั้งพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งเมื่อกำหนดเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 จะจำกัดการนำเข้าไม่ให้มีการใช้เลย กรมวิชาการเกษตรก็พยายามให้ความรู้และควบคุมกำกับทั้ง 3 สารนี้ โดยหลังจากมีการควบคุมคาดว่าแนวโน้มในการใช้สารพิษหรือตรวจเจอสารพิษน่าจะลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประชาชนขอให้เลือกซื้อผักผลไม้สดจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ล้างผักผลไม้เพื่อลดสารพิษตกค้าง