ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชพันธุศาสตร์ กับแนวปฏิบัติการตรวจพันธุกรรม ให้บุคลากร สธ. ทำงานร่วมกันโดยยึดมาตรฐานเดียวกัน สู่การพัฒนาระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน

ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลเกิดขึ้นในหลายระดับและมีความซับซ้อน ซ้ำยังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกกลุ่มและทุกระดับของสังคม จากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเภสัชพันธุศาสตร์มาเป็นแนวทางสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการใช้ยาสมเหตุผล และได้เปิดเผยข้อมูลในการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการใช้ยาสมเหตุผลในประเทศไทย ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ

เภสัชพันธุศาสตร์ มีบทบาทสำคัญในการช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเหมาะต่อยา หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ในระดับสถานพยาบาล ช่วยให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพแม่นยำ ส่วนในระดับมหภาคหรือระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ จะช่วยลดต้นทุนในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากยา

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล กล่าวว่า ผู้ที่ต้องให้ยากับคนไข้ไม่ใช่เฉพาะแพทย์อย่างเดียว แต่รวมถึงเภสัชกร หากมีความเข้าใจวัตถุประสงค์ เหตุและผลของการใช้ยา จะช่วยให้ใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยเรามุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Rational Drug Use หรือ RDU Country ซึ่งในปัจจุบันการใช้ยาอย่างน้อย 50 เปอร์เซนต์เป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผล Healthcare System ของแต่ละประเทศ มีตัวเลขของการใช้ยาทั่วไปเป็น 10-20 เปอร์เซนต์ของค่าใช้จ่ายในการดูแลเรื่องสุขภาพ การใช้ยาสมเหตุผล เมื่อจำเป็นต้องใช้คือใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกใช้ยาที่แพง ในประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน การใช้ยาสมเหตุผลต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 อย่าง ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ ใช้ยาถูกชนิด ถูกขนาด ถูกเวลา และราคาเหมาะสม

"คนจำนวนไม่น้อยต้องพิการตลอดชีวิตเพราะใช้ยาโดยที่ไม่รู้ว่าแพ้ ในอดีตจะรู้ว่าแพ้หรือไม่แพ้ ต้องถามว่าเคยแพ้ไหม ถ้าทุกคนรู้มาก่อนว่า เคยแพ้ไหมคงง่าย สำคัญคือครั้งแรกที่ใช้ไม่มีใครรู้ แต่วันนี้ต้องขอบคุณ ที่เปิดโอกาสให้ตรวจยีนนี้เพื่อการป้องกัน เพราะยีนนี้มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 55 เท่า การตรวจยีนนี้จึงมีประโยชน์มากมาย ทั้งนี้ Pharmacogenomics กำลังเปิดยุคใหม่ของการดูแลสุขภาพ และคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ถ้ามีคนที่สนใจและศึกษาเรื่องเหล่านี้จะมียีนอีกหลายตัว หากนำมาใช้เป็นระบบพื้นฐานที่สามารถใช้ได้กับทั้ง 3 กองทุน ประโยชน์จะเกิดขึ้นอย่างมากมายกับคนไทย" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ด้านดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการกองการแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เสริมว่า ในปีนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ล่าสุดให้ตรวจยีน HLA-B* 5801 ก่อนให้ยา Allopurinol ในผู้ป่วยโรคเกาต์รายใหม่ ซึ่งเป็นที่แรกในโลก เพราะไต้หวันและสิงคโปร์ก็ยังไม่ได้บรรจุการตรวจนี้ในสิทธิประโยชน์การป้องกันสุขภาพ ทำให้มีข้อมูลของการตรวจยีนเพื่อป้องกันการแพ้ยาจาก Allopurinol น่าจะกว้างขวาง ครอบคลุมมากที่สุด โดยแนวทางปฏิบัติที่ทางทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมา น่าจะเป็นประโยชน์กับทางโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานที่ได้ช่วยดูระบบปฏิบัติการของเภสัชพันธุศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยโครงสร้างพร้อมแล้วทั้งคนและระบบห้องปฏิบัติการ เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้มีการตรวจ Real time PCR ทั่วประเทศมีหลายโรงพยาบาลที่มีระบบ Real time PCR เพื่อตรวจโควิด ซึ่งสามารถนำมาตรวจเภสัชพันธุศาสตร์ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง

ด้วยเภสัชพันธุศาสตร์ยังขาดแนวทางปฏิบัติและมาตรฐานที่ชัดเจนในการส่งตรวจ แปลผล และการนำไปใช้ประกอบการจัดการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบและทั่วถึง จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย "เภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการใช้ยาสมเหตุผลในประเทศไทย" ซึ่งเป็นการนำความรู้ทางเภสัชพันธุศาสตร์มาประยุกต์ใช้สำหรับการดำเนินการที่เชื่อมโยงกับระบบการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย สร้างองค์ความรู้พื้นฐานและนำไปสู่การปฏิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุข

โครงการวิจัย "เภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการใช้ยาสมเหตุผลในประเทศไทย" ยังได้จัดทำหนังสือชื่อเรื่อง 1.แนวปฏิบัติในการตรวจลักษณะทางพันธุกรรม HLA-B*15:02 เพื่อประกอบการใช้ยา carbamazepine พ.ศ. 2563 และ 2.แนวปฏิบัติในการตรวจลักษณะทางพันธุกรรม HLA-B*58:01 เพื่อประกอบการใช้ยา allopurinol พ.ศ. 2563 แนวทางปฏิบัตินี้จะช่วยให้เห็นข้อบ่งชี้ในการตรวจยีนอย่างเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพ โดยเมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยา carbamazepine หรือ allopurinol แพทย์ควรให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจยีน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการแพ้ก่อนเริ่มใช้ยา, เกิดแนวทางการจัดการรักษาและดูแลผู้ป่วย และส่งต่อข้อมูลให้ผู้ป่วยเพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยสื่อสารกับทีมสหวิชาชีพ แนวทางสองฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาและประเมินความเหมาะสม (ในขั้นตอนสุดท้าย) โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชพันธุศาสตร์ในประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ รวมถึงจะมีการรับรองความเห็นชอบจากองค์กรวิชาชีพแพทย์และเภสัชกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในมุมมองของผู้ปฏิบัติงาน ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล เสริมว่า เภสัชกรผู้ปฏิบัติงานจะมีส่วนในการติดตามการใช้ยา ให้คนไข้ได้ประโยชน์จากการใช้ยา ไม่เกิดผลข้างเคียง ซึ่งมักจะไม่รู้มาก่อนและต้องรอจนเกิดขึ้นมา หากเกิดตอนที่ไม่สามารถไปช่วยได้จะเกิดอันตรายถึงชีวิต แต่หลังจากนี้จะคาดเดาได้ด้วยการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ ทางสมาคม จะรับไว้ 2 นโยบาย 1.ให้เภสัชกรที่ทำงานของโรงพยาบาล ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกัน และ 2.กำหนดเป็นบทบาทงานเพื่อใช้เภสัชพันธุศาสตร์นำไปใช้ในหลักการแพ้ยา เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย

แนวทางปฏิบัติการตรวจพันธุกรรม จะช่วยสร้างมาตรฐานให้บุคลากรทางการแพทย์ ดำเนินงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน นำข้อมูลของผู้ป่วยส่งต่อถึงกันได้ เพื่อป้องกันการแพ้ยาอย่างรุนแรง ช่วยชีวิตคนไข้ให้ปลอดภัยด้วยการใช้ยาอย่างเหมาะสม