ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอจุฬาฯ พยากรณ์โรคปี 64 ชี้ โรคโควิด-19 ยังน่ากลัว ลั่นจับตาวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมการเปลี่ยนหน้าตาพันธุกรรมของไวรัสได้หมดหรือไม่ หลังพบไวรัสเกิดการผันแปรตลอด แฉการวินิจฉัยโรคยากขึ้น-เกิดการติดซ้ำเหตุภูมิคุ้มกันไม่ตรงไวรัสตัวใหม่ พ่วงอาการโรครุนแรงขึ้น พร้อมย้อนอดีตศึกษาวิวัฒนาการไวรัสจากค้างคาวมงกุฏเพื่อวางแผนรับมือโรคในอนาคต

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงโรคที่ต้องมีการเฝ้าระวังในปี 2564 ว่า เชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนา ยังเป็นกลุ่มที่น่ากลัวและต้องเฝ้าระวังเหมือนเดิม โดยประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 ไวรัสโคโรนา หรือ โรคโควิด-19 จะมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาตลอด และจากที่มีการติดตามรหัสพันธุกรรมของตัวไวรัส พบว่ามีการผันแปลหน้าตาในทุกๆวัน ในแต่ละพื้นที่ แต่ละทวีปในประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เวลาที่เกิดการแพร่กระจายและไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้หมด เมื่อมีการแพร่กระจายจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง จนเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ก็จะทำให้ลักษณะพันธุกรรมมีการเพี้ยนไปเรื่อยๆ ประกอบกับมาตรการในการควบคุมทางระบบสาธารณะสุขในด้านการควบคุมโรคติดเชื้อในแต่ละคนทำได้ไม่ทั่วถึง ทำให้ไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้ไวรัสไม่เกิดการผ่าเหล่าไม่ประสบผลสำเร็จ จนส่งผลให้ไวรัสที่มีการพบในช่วงเดือนมกราคม 2563 ในแต่ละประเทศหน้าตาของไวรัสเกิดการผันแปรจนกระทั่งดูหน้ากลัว

หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หมายความว่าในการวินิจฉัยโรคก็จะเริ่มมีความยากมากขึ้น หากใช้วิธีการวินิจฉัยด้วยวิธีการตรวจแบบเก่า ท่อนรหัสพันธุกรรมแบบที่เคยมีการตรวจกันอยู่ ซึ่งจะมีการตรวจจับรหัสพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจงเมื่อรหัสพันธุกรรมเปลี่ยนไป ก็จะทำให้ตรวจไม่พบ จนอาจทำให้คิดว่าไม่มีไวรัส แต่จริงๆแล้วมีไวรัส ทำให้การตรวจพบเชื้อไวรัสล่าช้า เพราะเกิดการผันแปรของพันธุกรรม โดยความผันแปรที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผู้ที่เคยติดเชื้อไปแล้ว สามารถเกิดการติดเชื้อซ้ำได้อีก เนื่องจากหน้าตาพันธุกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ภูมิคุ้มกันที่มีการสร้างจากการติดเชื้อครั้งแรก อาจจะไม่สามารถคุ้มกันการติดเชื้อครั้งที่ 2 ได้ โดยพบว่ามีการรายงานลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจากรายงานของต่างประเทศยังพบด้วยว่ามีการติดเชื้อครั้งที่ 2 เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ ในจังหวัดมณฑลหรือมลรัฐเดียวกันในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน โดยการติดเชื้อครั้งใหม่ โรคจะมีความรุนแรงมากกว่าครั้งเก่า ทั้งนี้อีกสิ่งที่สำญคือเราต้องมีการจับตาด้วยว่าวัคซีน ที่มีการผลิตออกมาว่าจะสามารถควบรวมหรือว่าครอบคลุมไวรัสทุกหน้าตาหรือไม่ หรือจะได้ผลเฉพาะไวรัสที่ออกแบบมาเฉพาะไวรัสที่โคจรอยู่ในแต่ละพื้นที่เท่านั้น

“ปัจจัยที่ 2 โรคโควิด-19 สามารถแพร่เข้าไปตั้งตัวอยู่ในสัตว์ ในคน โดยเริ่มแรกเป็นจากสัตว์สู่คน คนไปสู่คนจากนั้นคนเข้าไปสู่สัตว์ โดยการที่เชื้อจากคนเข้าไปสู่สัตว์นั้น พบว่าเข้าไปตั้งแต่สัตว์ ในสวนสัตว์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เสือ สุนัข แมว มิ้งค์ ลิง เป็นต้น ซึ่งกระบวนการตรงนี้มีการพยากรณ์การแพร่เชื้อสู่สัตว์ต่างๆและได้คาดการณ์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งผลสุดท้ายพบว่ามีปรากฎการณ์เกิดขึ้นจริงในสัตว์ต่างๆ ทั้งยังมีการพิสูจน์ว่ากระบวนการติดเชื้อนี้สามารถทำให้ปรากฎได้ในสัตว์ทดลอง ขณะนี้พบว่ายังไม่รุนแรงมากนักแต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะไม่รุนแรงขึ้น เพราะแม้แต่โรคโควิด-19 ที่ติดในคนจำนวน 100 คน ความรุนแรงของโรคในแต่ละคนก็ยังไม่เท่ากัน ดังนั้นหากมีการติดเชื้อย้อนกลับจากสัตว์มาสู่คนพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะยังบอกไม่ได้ว่าเชื้อจะรุนแรงแค่ไหน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า จากการที่ดูรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่มาจากสัตว์ที่กลับเข้ามาในคน ขณะนี้มีการพบว่าจากรหัสพันธุกรรมนี้ สามารถที่จะจำลองรูปแบบโครงสร้างโปรตีนของไวรัสได้ โดยรูปแบบโปรตีนของไวรัสดูเหมือนว่าจะสามารถหลบหลีกการมองเห็นการตรวจ ซึ่งเมื่อดูจากโครงสร้างโปรตีนของไวรัสที่มาจากสัตว์ โดยดูแบบจำลองจากรหัสพันธุกรรมนั้นเริ่มส่อให้เห็นว่ามันอาจจะหลบหลีกในกระบวนการรับรู้ของภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้น ดังนั้นต้องมีการติดตามต่อไปว่าจะมีปัญหาในอนาคตหรือไม่

หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ ยังได้มีการลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างค้างคาวมงกุฎ โดยเป็นการเก็บย้อนยุคประวัติศาสตร์ โดยค้างคาวมงกุฎของประเทศไทยมีแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นตัวต้นกำเนิดของโควิด-19 และข้อมูลตรงนี้ถึงแม้จะไม่ใช่ข้อมูลใหม่ เพราะประเทศจีนก็มีการรายงานแล้ว แต่ที่เข้าไปดูย้อนประวัติศาสตร์ตรงนี้สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ แต่เพื่อดูว่าไวรัสที่เป็นแม่พิมพ์โควิด-19 ในที่สุดแล้วจะสามารถที่จะผันแปรและเข้าไปในสัตว์อื่นได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งเพื่อดูว่าวิวัฒนาการในอนาคตกับสัตว์ชนิดใหม่จะประกอบร่างเกิดเป็นหน้าตาลักษณะใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นการศึกษาย้อนอดีตที่มีการซ่อนอนาคตไว้ ดังนั้นในปี 2564 โรคโควิด-19 ยังน่ากลัวและต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีการค้นหาผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด และต้องรู้ว่าเชื้อตัวนั้นเป็นเชื้ออะไร เป็นโรคที่เคยรู้จักมาก่อนหรือไม่ หากเป็นเชื้อที่ไม่รู้จักก็จะยิ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นเชื้ออุบัติใหม่ที่กลายพันธุ์เข้ามา

“ขณะนี้สิ่งที่เราต้องทำ คือ ต้องมุ่งไปที่คนที่ติดเชื้อไม่ว่าจะด้วยกลุ่มอาการใดก็ตาม ทั้งนี้สำหรับประชาชนทั่วไปการเตรียมตัวรับมือเกี่ยวกับโรคในปี 2564 นั้น ต้องบอกว่าสิ่งที่ทุกคนทำอยู่ขณะนี้ในเรื่องการป้องกันโรคโควิด -19 ถือว่าครบอยู่แล้ว ขอแค่การ์ดอย่าตก คือ สวมหน้ากาก กินร้อน ช้อนตัว กินอาหารที่สุก

หมั่นล้างมือบ่อยๆ ก็สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้หมด เพียงแค่มีระเบียบวินัย ร่วมกันเท่านั้น นอกจากนี้เวลาประกอบอาหารก็ต้องระวัง โดยเฉพาะคนชำแหละสัตว์ คนจับต้องเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ มือจะต้องไม่มีบาดแผล ต้องมีการสวมถุงมือสวมถุงพลาสติกป้องกันด้วย และอยากขอย้ำว่าโรคโควิด-19 ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้เพราะมันมีการเปลี่ยนหน้าตลอด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว