ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยย้ำเตือนมาตรการควบคุมโควิด-19 ร้านค้าร้านอาหารต้องมีจุดคัดกรอง มีสแกนไทยชนะ หรือมีสมุดให้ลูกค้าจดรายละเอียดติดต่อ ยิ่งสถานการณ์ระบาด ขณะนี้ต้องดำเนินการเคร่งครัด เพราะหากไม่มีคัดกรองและพบผู้ติดเชื้อ ไม่สามารถสอบย้อนหลัง ท้องถิ่นมีอำนาจลงโทษร้านค้าทันที 

หลังจากกรมควบคุมโรค จำลองฉากทัศน์การระบาดโควิด ระบุว่า หากไม่มีมาตรการใดๆ ไม่เข้มป้องกันโรค คาดผู้ป่วยพุ่งถึงวันละ 1.8 หมื่นรายกลางเดือน ม.ค. 64 แต่หากมีมาตรการปานกลางจะเพิ่ม 8 พันราย แต่หากทำเข้มข้น ร่วมมือทุกฝ่าย ผู้ป่วยจะน้อยกว่า 1,000 ราย ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องเข้มมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 (ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดฉากทัศน์คาดการณ์โควิดระบาดกลางเดือน ม.ค. 64 หากไม่เข้มมาตรการผู้ติดเชื้อพุ่ง 1.8 หมื่นราย)

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความสำคัญของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 ว่า มาตรการการควบคุมโควิด-19 จำเป็นต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน อย่างมาตรการส่วนตัวเป็นที่ทราบอยู่แล้ว คือ การสวมหน้ากากอนามัย การหมั่นล้างมือให้สะอาด หรือการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชน ซึ่งต้องทำควบคู่กัน ไม่ใช่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่สถานประกอบการก็เช่นเดียวกัน ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มทั้งหมดก็ต้องดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

“โดยเฉพาะการสแกน “ไทยชนะ” หรือ “หมอชนะ” เพื่อให้ประชาชนได้สแกนเพื่อเช็กอินเช็กเอาท์ ซึ่งมาตรการตรงนี้สำคัญมากๆ สถานประกอบการ ร้านค้าร้านอาหารต้องมีจุดให้สแกน หากไม่มีก็ต้องมีการจดรายละเอียด ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพราะหากพบผู้ติดเชื้อโควิดจะได้มีการสอบย้อนหลังได้ว่า ใครเข้ามาบ้าง เพื่อสแกนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำได้ แต่หากไม่มีตั้งไว้ แม้จะมีมาตรการอื่นๆ เช่น พนักงานสวมหน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตั้งไว้ แต่หากพบผู้ติดเชื้อ และไม่สามารถให้รายละเอียดหรือข้อมูลได้ สุดท้ายร้านค้าก็อาจถูกสั่งปิด หรือมีมาตรการบทลงโทษได้” นพ.บัญชา กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า จริงๆมาตรการเหล่านี้มีการกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น และเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าทราบดี โดยเฉพาะการตั้งจุดคัดกรองต้องมี ละเว้นไม่ได้ เพราะหากพบคนติดเชื้อในร้านตัวเอง และสอบได้ว่าไม่มีมาตรการ อาจปิดกิจการได้ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันมีการระบาดโควิด ยิ่งต้องเข้มข้นมาตรการทั้งหมด ส่วนบทลงโทษหากพบว่าไม่มีการดำเนินการ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการกำกับดูแลเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก หากประชาชนพบว่า สถานประกอบการใด หรือร้านค้าร้านอาหาร เครื่องดื่มใดๆ ก็ตาม หากไม่มีจุดคัดกรองเชื้อโควิด-19 หรือมีไม่ครบมาตรการให้สามารถแจ้งไปยังสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 จะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดจะต่อตรงมาหน่วยงานนั้นทันที

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ศบค.เผยผลสอบสวนโรคเพิ่มเติมผู้ติดเชื้อโควิด-  ขณะที่ยอดเช็ก “ไทยชนะ” เพิ่มขึ้น )